ไทยขอ “ทรัมป์” ยืดเส้นตาย 25 เม.ย. ตัดจีเอสพีสินค้า 573 รายการ

(Photo by Chip Somodevilla/Getty Images)

ไทยยื่นหนังสือด่วนถึง USTR อ้าง 2 ประเทศเผชิญการระบาดของไวรัสโควิด-19 ขอ “ทรัมป์” เลื่อนตัดสิทธิพิเศษ GSP สินค้าไทย 573 รายการ 25 เม.ย.นี้ ออกไปก่อน ชี้ 2 ประเทศต้องพึ่งพากัน สหรัฐจะได้นำเข้าวัตถุดิบภาษี 0% ด้านกระทรวงแรงงานแจงแก้ข้อกล่าวหาสิทธิแรงงาน แก้กฎหมายอยู่ในขั้นกฤษฎีกา

เหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือนก็จะครบกำหนด “เส้นตาย” ตามคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ (President Proclamation) ที่ให้ “ระงับ” สิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) เป็นการชั่วคราวสำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศไทย จำนวน 573 รายการ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 เมษายนที่จะถึงนี้ โดยระยะเวลาที่ผ่านมา คณะผู้แทนไทยได้เปิดการเจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เพื่อแก้ข้อกล่าวหาของสหรัฐ 2 ข้อด้วยกัน คือ market access หรือ การเปิดตลาดนำเข้าหมูจากสหรัฐ กับประเด็นในเรื่องของ worker rights หรือสิทธิแรงงาน

อ้างโควิด-19 ขอร้องสหรัฐ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ออกคำสั่งจะระงับสิทธิพิเศษ GSP สินค้าไทยเป็นการชั่วคราว ฝ่ายไทยได้มีการเจรจาแก้ข้อกล่าวหาของสหรัฐในประเด็นเรื่องการนำเข้าหมูยังติดปัญหาที่ว่า หมูจากสหรัฐมีการใช้สารเร่งเนื้อแดง (แรตโตพามีน) ซึ่งกระทบกับสุขภาพของประชาชนไทยในระยะยาว แต่ในอนาคตหากสหรัฐมีฟาร์มที่สามารถผลิตหมูที่ปลอดสารเร่งเนื้อแดงก็สามารถส่งออกมาทำตลาดในประเทศไทยได้

ส่วนการเจรจาในเรื่องของสิทธิแรงงานนั้น เป็นการแก้ข้อกล่าวหาของสมาพันธ์แรงงาน และสภาอุตสาหกรรมแรงงานสหรัฐ (AFL-CIO) ที่เห็นว่า ประเทศไทยยังไม่ได้คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศใน 2 ประเด็น คือ การรวมตัวตั้งเป็นสหภาพแรงงาน กับเรื่องการเจรจาต่อรอง โดยผลการเจรจากับ USTR กระทรวงพาณิชย์เชื่อว่า “แม้ฝ่ายไทยกำลังแก้ไขกฎหมายแรงงาน 2 ฉบับที่เกี่ยวข้อง แต่คงไม่ทันกับเส้นตายที่กำหนดไว้ ดังนั้นในวันที่ 25 เมษายน ไทยคงถูกสหรัฐระงับสิทธิพิเศษ GSP จำนวน 573 รายการ ค่อนข้างแน่นอนแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เพื่อขอให้พิจารณา “เลื่อนการบังคับใช้” การตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าจำนวน 573 รายการ ที่จะต้องเสียภาษีนำเข้า 4-5% ออกไปก่อน จากเดิมที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 เมษายนนี้ โดยหนังสือฉบับนี้เป็นการขอความเห็นใจ เนื่องจากไทยและสหรัฐต่างประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 “ทั้ง 2 ประเทศต้องพึ่งพาอาศัยกัน สหรัฐก็จะสามารถใช้สินค้าไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิตจำหน่ายให้กับประชาชนด้วยอัตราภาษี 0% ไม่เป็นภาระต่อการครองชีพของคนสหรัฐ”

ก่อนหน้านี้ Michael George DeSombre เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นการดำเนินการตามขั้นตอน โดยสหรัฐต้องการให้ฝ่ายไทยปรับปรุงแก้ไขกฎหมายด้านแรงงาน ซึ่งการดำเนินการของไทย “ยังไม่คืบหน้า” ดังนั้นการตัดสิทธิพิเศษ GSP สินค้าไทยจำนวน 573 รายการ จะมีผลอย่างเป็นทางการตามกำหนดเดิม คือ ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563 เป็นต้นไป โดยจะเป็นการตัดสิทธิพิเศษ GSP ของไทยลง 1 ใน 3 “โอกาสที่จะปรับเปลี่ยนไปหรือชะลอออกไปคงไม่มี แม้ถูกตัด GSP ลง 1 ใน 3 แต่ไทยก็ยังเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จาก GSP ที่สหรัฐให้สิทธิมากที่สุด รวม 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐอยู่”

ลุ้น 3 รายการคืน GSP

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยได้ขอใช้สิทธิการทบทวนประจำปี (annual review) ในโครงการ GSP ด้วยการขอให้สหรัฐ “ผ่อนปรน” ให้กับสินค้า 5 รายการ ที่มีมูลค่าการส่งออกไม่ถึงเกณฑ์ (de minimis waiver) ที่สหรัฐกำหนดไว้ 190 ล้านเหรียญ แต่กลับมีส่วนแบ่งตลาดเกินเพดานที่กำหนดไว้ 50% ประกอบด้วย ดอกกล้วยไม้ ภาษี 6.4%, หนังสัตว์ฟอก 2.2%, ปลาดาบแช่แข็ง 6%, เห็ดทรัฟเฟิล 7.7% และส่วนประกอบเครื่องซักผ้า 2.6% ซึ่งในจำนวนนี้มี 3 รายการ คือ ปลาดาบ-เห็ดทรัฟเฟิล-ส่วนประกอบเครื่องซักผ้า ที่ติดอยู่ในกลุ่มสินค้า 573 รายการ ตามคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ (President Proclamation) ด้วย

“ในวันที่ 25 เมษายน สินค้าไทยทั้ง 3 รายการ (ปลาดาบ-เห็ดทรัฟเฟิล-ส่วนประกอบเครื่องซักผ้า) ก็จะถูกตัดสิทธิ GSP ไปโดยอัตโนมัติ แต่ยังสามารถรอผลการพิจารณาสินค้า GSP ที่เราขอทบทวนไปในกลุ่ม de minimis waiver ที่จะประกาศผลการทบทวนประมาณเดือนพฤศจิกายน 2563 ส่วนการทบทวนโครงการ GSP ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ทางไทยได้ยื่นขอให้สหรัฐทบทวนทั้งโครงการจำนวน 3,500 รายการ ซึ่งจะเป็นการทบทวนให้กับทั้ง 191 ประเทศ เบื้องต้นคาดว่าจะสรุปผลประมาณเมษายนว่า ประเทศใดยังคงได้รับสิทธิพิเศษ GSP โครงการใหม่ต่อไปบ้าง” แหล่งข่าวกล่าว

แก้ปมตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าว

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ข้อกล่าวหาในเรื่องสิทธิแรงงาน (worker rights) ของสหรัฐ จะเกี่ยวพันกับการที่รัฐบาลไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญา 2 ฉบับ คือ อนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเรื่องของการรวมตัวกันเป็นสมาคม กับอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง ซึ่งเกี่ยวโยงกับสิทธิมนุษยชนซึ่งมีอนุสัญญาพื้นฐานแรงงานระหว่างประเทศอยู่ 8 ฉบับ ในจำนวนนี้ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไปแล้ว 6 ฉบับยังเหลืออีก 2 ฉบับก็คือ ฉบับที่ 87 กับ 98 นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การไม่ให้สัตยาบันทั้ง 2 ฉบับ “ไม่ได้หมายความว่าไทยละเลยที่จะไม่ปฏิบัติตาม” แต่เนื่องจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กำหนดให้สมาชิกต้องให้สัตยาบันครบทั้ง 8 ฉบับ จะไปขอ “ยกเว้น” ฉบับใดฉบับหนึ่งไม่ได้ ส่วนความคืบหน้าที่ฝ่ายไทยได้ดำเนินการไปแล้วก็คือ

1) อนุสัญญาฉบับที่ 87 ประเด็นเรื่องสิทธิที่ให้กับ “คนต่างด้าว” ในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เรื่องนี้มีการประชาพิจารณ์การแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518ทั่วประเทศ 5 ครั้ง ปรากฏผลการประชาพิจารณ์ 92% ไม่เห็นด้วย ที่จะให้มีการจัดตั้ง “สหภาพแรงงานต่างด้าว”

แต่เพื่อเป็นการผ่อนคลายข้อกล่าวหาของสหรัฐ แม้ว่าไทยจะไม่ได้ให้จัดตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวแต่ไทยพร้อมที่จะให้สิทธิแรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นกรรมการในสหภาพแรงงานได้จำนวน 1 ใน 5 ของกรรมการที่มีอยู่ เพราะว่าแม้จะไม่ได้รับการตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวโดยตรงแต่ก็ยังสามารถมี “ผู้แทน” เข้ามาเป็นคณะกรรมการได้

2) อนุสัญญาฉบับที่ 98 การคุ้มครองสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรองให้กับผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกระบวนการจัดตั้ง องค์กร-สหภาพ-สมาคม นั้น “คนร่วมเจรจาต่อรอง” จะต้องไม่ถูก “กลั่นแกล้ง” ด้วยการถูกเลิกจ้าง ถูกโอนย้ายหน้าที่การงาน หรือใครที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการเหล่านี้จะไม่ได้รับผลร้ายจากการเข้าไปเป็นกรรมการ หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการยื่นข้อเสนอ หรือข้อเรียกร้องในการเรียกร้องที่ขอให้มีการเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน สามารถดำเนินการได้ใน 2 รูปแบบ คือ ผ่านองค์กรคือสหภาพแรงงานเป็นผู้ยื่น กับยื่นในนามกลุ่มลูกจ้าง ลูกจ้างจะเป็นสัญชาติใดก็ตามสามารถยื่นเรื่องต่อนายจ้างได้ และได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกัน เพราะกฎหมายห้ามไม่ให้เลิกจ้างในขณะที่มีการเรียกร้องได้

“เราได้รายงานความคืบหน้าไปให้ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) รับทราบว่าทำอะไรไปบ้าง และได้แก้ไขในบางประเด็นต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้การแก้ไขกฎหมายอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรานำส่วนที่ได้มีการประชาพิจารณ์รายงานไปด้วย ซึ่งในเบื้องต้นก็อาจจะยังไม่ตรงกับความต้องการของสหรัฐ ซึ่งเรามอง 2 ด้าน คือ หากดำเนินการตามอนุสัญญาทั้งหมดมาบังคับใช้จะทำให้เกิดปัญหา เพราะนำมาบังคับใช้กับแรงงานในไทย ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่รับในเรื่องนี้ แม้ว่าจะออกมาเป็นกฎหมายก็ไม่มีผล มันทำไม่ได้ เพราะคนไม่ยอมรับกับบริบทบางเรื่องของไทยแตกต่างจากสหรัฐ” นายอภิญญากล่าว