เงินหมื่นล้านไม่ถึงมือ”ไร่อ้อย” ลุ้นกอน.ปรับเกณฑ์จ่ายเยียวยาทันปิดหีบ

file. Photographer: Dario Pignatelli/Bloomberg via Getty Images

ลุ้น กอน. นัดหน้า 26 มี.ค.นี้ ปลดล็อกเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยหมื่นล้านสะดุด จะปิดหีบแล้วเงินยังไม่ถึงมือชาวไร่ หวั่นเงินชอร์ต ด้านผู้ผลิตผลไม้กระป๋องรับไม่ไหวขยับราคา 20% ออร์เดอร์ไม่เข้าเป้าเหลือแค่ 8.5 แสนตัน

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสากรรม ในฐานะคณะกรรมการบริหาร (กบ.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) วันที่ 26 มี.ค. 2563 ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน จะมีการหารือถึงความกังวลต่อปัญหาเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิต 2562/2563 วงเงิน 10,000 ล้านบาท

“ในการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีวาระแต่งตั้งให้ตนรับตำแหน่งประธาน กบ. ซึ่งในการประชุมดังกล่าวได้หารือถึงโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อซื้อปัจจัยการผลิตบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวไร่ โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็กให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพและบรรเทาภาระค่าครองชีพ แต่ขณะนี้ชาวไร่ยังกังวลเพราะเงินดังกล่าวยังไม่อนุมัติออกมา เนื่องจากอยู่ระหว่างการเวียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม.”

อีกทั้งที่ประชุมได้รับทราบรายงานการหีบอ้อยปี 2562/2563 ซึ่งขณะนี้ยังเหลืออีกเพียง 2 โรงงาน คาดว่าจะมีการปิดหีบภายในเดือนนี้ โดยมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 74.8 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน ที่มี 135 ล้านตัน จึงทำให้เกิดความกังวลว่าปริมาณเพียงเท่านี้ จะมีผลให้เงินช่วยเหลือต่อรายต่อตันจะน้อยเกินไป นี่จึงเป็นอีกเรื่องที่ชาวไร่กังวล

ด้าน นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยยังรอเงินช่วยเหลือจากทางภาครัฐ เพื่อจะนำมาใช้เป็นทุนในการเพาะปลูกอ้อยในปีนี้ โดยคาดว่าหลังการปิดหีบอ้อยปีนี้แล้วจะต้องได้รับเงินดังกล่าวอย่างช้าที่สุดในช่วงปลายเดือน พ.ค. ผ่านช่องทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามปกติ

“ปีนี้ต้นทุนชาวไร่สูงถึง 1,200-1,300 จากฤดูปกติ 1,110 บาท/ไร่ ขณะที่ค่าอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 750 บาท/ไร่ ไม่เพียงพอจึงต้องรอเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตมาช่วย หากล่าช้าแน่นอนว่าชาวไร่ต้องพึ่งพาการกู้จากโรงงานน้ำตาลคู่สัญญาซึ่งแต่ละโรงงานก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันส่งผลให้ชาวไร่เป็นหนี้ผูกพันระยะยาว”

สำหรับเงื่อนไขในการขอรับเงินวงเงิน 10,000 ล้านบาทนั้น ชาวไร่เสนอหลักการคำนวณใหม่ เนื่องจากปริมาณอ้อยปีนี้ลดน้อยลงมาก เหลือเพียง 74.8 ล้านตัน ไม่ถึงที่คาดการณ์ 75 ล้านตัน การจัดสรรเงินจะแบ่งเป็น 2 ก้อน คือ 1.ช่วยอ้อยทุกประเภท 6,500 ล้านบาท เฉลี่ยจากปริมาณปีนี้ประมาน 75 ล้านตัน

ชาวไร่จะได้มากกว่า 100 บาท (จากเดิม 65 บาท คำนวณจากปริมาณอ้อยที่คาดการณ์ 110 ล้านตัน) 2.ช่วยอ้อยสด 3,500 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 50% ชาวไร่จะได้ประมาณ 100 บาท (จากเดิม 70 บาท คำนวณจากปริมาณอ้อยที่คาดการณ์ 110 ล้านตัน)

ขณะที่ นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการ บริษัท สยามอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ SAICO เปิดเผยว่า ภัยแล้งปีนี้ส่งผลให้ผลผลิตอ้อย ปี 2562/2563 มีปริมาณลดลงเหลือ 75 ล้านตันจากปีก่อนที่ได้ 135 ล้านตัน โดยคิดเป็นปริมาณน้ำตาลประมาณ 7.51 ล้านตัน แบ่งเป็นส่วนใช้สำหรับบริโภคในประเทศ 2.0-2.51 ล้านตัน ทั้งในครัวเรือน ร้านอาหาร และอุตสาหกรรม ขณะที่การส่งออกน้ำตาลมีปริมาณ 4-5 ล้านตัน ซึ่งในด้านปริมาณน่าจะมีปริมาณเพียงพอ

ส่วนราคาน้ำตาลส่งออกปรับราคาสูงขึ้น ราคาส่งให้บริษัทนำมาใช้แปรรูปเป็นผลไม้บรรจุกระป๋อง กก.ละ 15-16 บาท จากปีก่อน กก.ละ 12-13 บาท หรือสูงขึ้น 3-4 บาท ส่วนราคาที่บริโภคในประเทศจะอยู่ที่ราคา 19-20 บาท ในส่วนของการผลิตและส่งออกสับปะรดกระป๋อง ผู้ส่งออกได้ต่อรองลูกค้า เพื่อขอปรับขึ้นราคาเพิ่มขึ้น 20% เพราะนอกจากราคาน้ำตาลสูงแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนสับปะรดซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักขยับสูงขึ้นไปหลายรอบ

เมื่อต้นปีราคา กก.ละ 7-8 บาท เป็น กก.ละ 13-14 บาท จากภัยแล้ง และน่าจะมีแนวโน้มยาวไปถึงไตรมาสที่ 2 การต่อรองลูกค้าขยับขึ้นอีกรอบ บางคนก็เข้าใจในเรื่องปริมาณปีนี้ผลผลิตจะมีผลผลิตออกน้อย เดือน มี.ค. อากาศร้อนไม่มีฝนเลย ซึ่งเราประเมินว่าภาพรวมการส่งออกอาจเหลือเพียง 8.5 แสนตัน จากเดิมคาดการณ์ไว้ 9.6-9.7 แสนตัน ขยายตัว 10% โดยตลาดหลักยังเป็นสหรัฐที่มีสัดส่วนสูงสุดมากกว่า 50% รองลงมา คือ ตลาดสหภาพยุโรป

“แม้ว่าต้นปีบาทอ่อนค่า แต่หากเทียบค่าบาทเฉลี่ยทั้งปี 2562 ยังอยู่ที่ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่วนเฉลี่ยทั้งปีนี้ยังอยู่ที่ 31.2 ก็ยังถือว่าแข็งค่ากว่า ถ้าค่าบาทอ่อนกว่านี้น่าจะทำให้การส่งออกได้ดีกว่านี้ โดยบาทแข็งค่า 1 บาทจะทำให้เราสูญเสีย 1,000 ล้านบาท”

รายงานข่าวระบุว่า ช่วง 2 เดือนแรก ไทยส่งออกน้ำตาล ปริมาณ 1.226 ล้านตัน ลดลง 9.8% มูลค่า 390 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.8% จากปีก่อ