ผู้ส่งออกไข่ไก่รับได้ แบนส่งออก 7 วัน กระทบแค่ 10 ราย

ผู้ผลิต ผู้ส่งออกไข่ไก่ รับหากรัฐบาลให้มีการชะลอส่งออกไข่ไก่ เพียงแต่ขอให้มีการผ่อนปรนกรณีที่มีคำสั่งซื้อล่วงหน้า ขณะที่ ผู้ผลิตกังวลความต้องการไข่ไก่จะลดลง แล้วทำให้ปริมาณไข่ไก่ในตลาดล้นกระทบต่อราคาขาย
 
นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ กล่าวถึงกรณีที่จะให้มีการชะลอส่งออกไข่ไก่ไปยังต่างประเทศ ว่า หากรัฐบาลจะให้ผู้ส่งออกไข่ไก่ชะลอส่งออกไข่ไก่ไปยังต่างประเทศในช่วงที่เกิดความต้องการบริโภคภายในประเทศมากขึ้นสามารถทำได้และเห็นด้วย แต่ทั้งนี้ ต้องการให้มีการผ่อนปรนหรือยกเว้นบางกรณีสำหรับผู้ส่งออกที่มีการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจาก คำสั่งซื้อนั้นผู้ส่งออกรับมาล่วงหน้าก่อน 1 เดือนจนถึงเดือนเมษายน 2563 และปัจจุบันอยู่ระหว่างการส่งมอบของคำสั่งซื้อที่ผ่านมา ดังนั้นจึงมองว่าอาจจะให้รัฐบาลพิจารณาในข้อนี้ด้วยเนื่องจากหากจะยกเลิกในทันทีอาจจะส่งผลกระทบต่อการผิดสัญญาคำสั่งซื้อ
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูปริมาณผู้ผลิตผู้เลี้ยงไข่ไก่ของไทยทั้งประเทศมีอยู่ประมาณ 3,000 – 4,000 ราย ขณะที่ผู้ส่งออกไข่ไก่ทั้งประเทศมีไม่ถึง 10 ราย ซึ่งผู้ส่งออกจะสามารถส่งออกไข่ไก่ไปยังต่างประเทศได้นั้น จะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งเรื่องของการเลี้ยง ฟาร์ม และคุณภาพของสินค้า โดยประเทศที่ส่งออกไข่ไก่ไปนั้น เช่นฮ่องกงและสิงคโปร์ เป็นต้น และปริมาณการส่งออกไข่ไก่ต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 2- 3 % ของปริมาณไข่ไก่ทั้งหมดที่ออก โดยไข่ไก่ ทั้งปีมีผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 15,000 ล้านฟอง
 
“จากปริมาณผลผลิตทั้งปีไข่ไก่ที่ส่งออกต่อปีอยู่ที่ 300-450 ล้านฟอง ถ้าดูปริมาณการส่งออกต่อเดือนอยู่ที่ไม่เกิน 20 ล้านฟอง และหากดูปริมาณการส่งออกต่อวันอยู่ที่ไม่ถึง 1 ล้านฟอง เมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิตไข่ไก่ที่ออกต่อวันอยู่ที่ปริมาณ 40 ล้านฟอง ขณะที่ การบริโภคภายในประเทศอยู่ที่ 37-38 ล้างฟองต่อวัน ดังนั้น ปริมาณผลผลิตส่วนเกินผู้ส่งออกจึงได้ผลักดันการส่งออกไปยังต่างประเทศ”
 
ทั้งนี้ แม้หากรัฐบาลไม่มีมาตรการชะลอการส่งออกไข่ไก่ เชื่อว่า ในช่วงเดือนเมษายน 2563 หากปริมาณความต้องการบริโภคยังสูงขึ้นต่อเนื่อง ผู้ผลิตและผู้ส่งออกจะลดปริมาณการส่งออกทันทีเพื่อขายภายในประเทศ เพราะเมื่อเทียบราคาขายภายในประเทศและราคาส่งออก ราคาภายในประเทศยังมีมูลค่าสูงกว่า เพราะดูจากราคาส่งออกแล้วเฉลี่ยไม่ถึง 2 บาทต่อกิโลกรัม โดยไข่ไก่ที่ส่งออกจะอยู่ที่เบอร์ 1 เบอร์ 2 และเบอร์ 3 โดย เป็นคำสั่งซื้อตามลูกค้าที่ต้องการ ขณะที่ราคาขายภายในประเทศไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ 2.80 บาท ซึ่งมีราคาสูง เมื่อเทียบกับราคาส่งออก
 
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเมื่อราคาภายในประเทศสูงผู้ผลิต ผู้ขายจะหันมาขายภายในประเทศมากขึ้นแต่สิ่งที่ผู้ผลิตและผู้ขายกังวลมากที่สุด คือ ความต้องการซื้อไข่ไก่ จะลดลง เนื่องจากได้มีการ เร่งหรือสต๊อกซื้อไปล่วงหน้าจะทำให้ปริมาณไข่ไก่ที่ออกมานั้นล้นตลาด เช่น หากไม่มีความต้องการซื้อเพียงแค่ 3 วันจะทำให้ไข่ไก่ ล้นสต็อก เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 120 ล้านฟอง โดยจะทำให้ ราคาไข่ไก่ ลดลง 20- 30 % ทันที จากปริมาณความต้องการหรือการซื้อน้อยลง
 
สำหรับ ราคาไข่ไก่ยังยืนยันว่าราคาหน้าฟาร์มอยู่ที่ 2.80 บาท หากบวกต้นทุนค่าจัดการการขนส่งกำไรแล้วไม่ควรเกิน 50 สตางค์ถึง 1 บาท เช่นไข่ไก่เบอร์ 0 ราคาขายควรจะอยู่ที่ 4 บาทขณะที่ไข่ไก่เบอร์ 1 ราคาขายควรจะอยู่ที่ประมาณ 3. 80 บาท เป็นต้นสำหรับผู้ที่มีการขายเกินราคานั้นมองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องเข้าไปติดตามและดูแลต่อไป