กู้ฉุกเฉิน 2 แสนล้านอุดโควิด กระตุ้นก๊อก 3 อุ้มเศรษฐกิจชุมชน

“สมคิด” ชี้พิษโควิดสาหัสกว่าต้มยำกุ้ง สั่ง “คลัง” อัดมาตรการ ชุด 3 ออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉินกว่า 2 แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เน้นสร้างรายได้แรงงานช่วงกลับภูมิลำเนา ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง “ธปท.-สมาคมธนาคารไทย” ผนึกกำลังออกมาตรการช่วยลูกหนี้เต็มสูบ เพิ่มช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ติดต่อลูกค้า ยันการปรับลดดอกเบี้ยขอพิจารณาเป็นรายกรณี เหตุฐานลูกค้า-ภาระต้นทุนแตกต่างกัน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจและวิกฤตไวรัสโควิดที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ตนได้สั่งให้กระทรวงการคลังเตรียมแผนออกมาตรการชุดที่ 3 เน้นดูแลกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชน เพื่อรองรับแรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด แนวทางในการดำเนินการให้ยึดโครงการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

กู้ฉุกเฉินมากกว่า 2 แสนล้าน

โดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนและมาตรการต่าง ๆ โดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้ระบุตัวเลขงบประมาณที่จะนำมาดูแลโครงการดังกล่าว แต่มีแผนที่จะออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน วงเงินมากกว่า 2 แสนล้านบาท

“หากมีความจำเป็นอาจจะพิจารณาออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉินมาดูแลเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งในหลักการสามารถทำได้เนื่องจากฐานะการเงินการคลังแข็งแกร่ง และกระทรวงการคลังได้เตรียมแผนมาเกือบเดือนแล้ว หากโครงการดังกล่าวออกมาก็พร้อมจะออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉินได้ทันที ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาตอนนี้คือ พ.ร.บ.ทั้งหลายที่มียกร่างขึ้นมาในช่วงที่เหตุการณ์ปกติ แต่เมื่อเข้าสู่เหตุการณ์ผิดปกติกลับทำอะไรไม่ได้ทั้งที่เรามีอยู่” นายสมคิดกล่าว

เกลี่ยงบทุกกระทรวงกู้วิกฤต

นายสมคิดกล่าวว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ตัวแปรเศรษฐกิจทั้งโลกก็ได้รับผลกระทบ ฉะนั้นจะต้องใช้งบประมาณก้อนใหญ่พอสมควร อย่างไรก็ดี งบปกติที่ใช้จ่ายก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการงบมาช่วยเสริมงบประมาณปี 2564 และถึงเวลาจะต้องมีชุดมาตรการออกมาดูแลเศรษฐกิจรองรับไว้ เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกันนี้จะไม่ใช้วิธีการเกลี่ยงบประมาณของปี 2563 เนื่องจากยังมีเงื่อนไขของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังที่ทำได้ยาก แต่หากใช้วิธีการที่สำนักงบประมาณขอให้แต่ละกระทรวงเกลี่ยงบเพื่อช่วยเศรษฐกิจมากขึ้น เป็นเรื่องที่สามารถทำได้

ดึงเอกชนฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติ

สำหรับมาตรการชุดที่ 3 นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติ เพื่อสร้างโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจภายในท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ให้มีการผลิต และเกิดการจ้างงาน โดยหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมทั้งธนาคารออมสินด้วย ขณะเดียวกันเมื่อมีสินค้าแล้วจะต้องมีตลาดรองรับแหล่งชุมชน ฉะนั้นจึงมีแนวคิดใช้องค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วม ซึ่งตอนนี้ได้หารือกับภาคเอกชนหลายแห่งแล้ว เช่น ปตท. เพื่อใช้เป็นพื้นที่กระจายสินค้าและช่วยการผลิต เป็นต้น

เตรียมแผนเยียวยาเศรษฐกิจต่อเนื่อง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำมาตรการ รวมทั้งออก พ.ร.ก.กู้เงินตามนโยบายรองนายกฯสมคิด ส่วนวงเงินจำนวนเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่จะนำมาใช้ ซึ่งวัตถุประสงค์ใหญ่ที่ต้องการตอนนี้คือ การเข้าไปดูแลขีดความสามารถของเศรษฐกิจในพื้นที่ เนื่องจากขณะนี้กำลังประสบปัญหาเฉพาะหน้าจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เบื้องต้น รัฐบาลได้ออกมาตรการมาดูแลทั้งประชาชนและผู้ประกอบการแล้ว ขณะเดียวกันหากต้องการให้ครอบคลุมจะต้องนำมาใช้ในการดูแลเศรษฐกิจเมื่อโควิด-19 คลี่คลายด้วย เพราะหากเหตุการณ์ดีขึ้นเศรษฐกิจจะเดินหน้าไม่ได้ ฉะนั้นในหลักการขอใช้ พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน วงเงินมากกว่า 2 แสนล้านบาท ยืนยันว่าสามารถทำได้

แบงก์ชาติจับตาใกล้ชิด

ขณะที่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เป็นเรื่องที่ธนาคารพาณิชย์ต้องพิจารณากันเอง เนื่องจากฐานลูกค้าของธนาคารแต่ละแห่งแตกต่างกัน บางแห่งมีฐานลูกค้ารายย่อย บางแห่งเป็นลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทำให้ภาระต้นทุนทางการเงินแตกต่างกัน จึงไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยเท่ากันได้ ต้องเป็นเรื่องที่แต่ละธนาคารพิจารณาลดดอกเบี้ยช่วยเหลือลูกค้ากันเอง

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้ความสำคัญกับนโยบายที่ตรงจุด โดย ธปท.และธนาคารพาณิชย์พยายามช่วยเหลือลูกหนี้ แต่ยังคงติดประเด็นที่ธนาคารแต่ละแห่งทำไม่เหมือนกัน ธปท.จึงออกแนวปฏิบัติขั้นต่ำออกมา 6 ประเภทสินเชื่อ อาทิ สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งนโยบายมีทั้งพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หรือบางแห่งพิจารณาลดดอกเบี้ยเป็นรายกรณี อย่างไรก็ตามคาดหวังว่าธนาคารจะมีมาตรการเพิ่มเติม

สิ่งที่เป็นปัญหาตอนนี้เป็นเรื่องการติดต่อของลูกค้ากับสถาบันการเงินซึ่งอาจล่าช้า เนื่องจากสถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการติดต่อผ่าน Call Center เพียงอย่างเดียว ทำให้การติดต่อช้าและรอสายนาน แต่ปัจจุบันสถาบันการเงินเริ่มขยายช่องทางการช่วยเหลือลูกค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และแจ้งผลการช่วยเหลือลูกค้าผ่านข้อความ SMS การช่วยเหลือจึงน่าจะรวดเร็วขึ้น โดย ธปท.จะติดตามอย่างใกล้ชิด

แบงก์ช่วยลูกหนี้เป็นรายกรณี

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้านั้น ธนาคารไม่สามารถลดพร้อมกันทั้งหมด แต่จะพิจารณาช่วยเหลือเป็นรายกรณี หากลูกค้ายากลำบากในการชำระหนี้ ธนาคารก็พร้อมช่วยเหลือ เช่น การพักชำระหนี้ ธนาคารพยายามเลื่อนให้ลูกค้าทั้งหมด แต่ประเด็นตอนนี้ คือ ลูกค้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก การติดต่อสื่อสารค่อนข้างยาก จึงนำช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มาช่วยเพิ่มเติม รวมทั้งขับเคลื่อนโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และโครงการของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) “บสย.สร้างไทย” อีก 6 หมื่นล้านบาท