หวั่นโควิดยืดเยื้อ ทุบส่งออกไทยปี 2563 ติดลบ 7% หอการค้าฯ แนะเอกชนเร่งปรับตัวรับสถานการณ์

ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ประเมินสถานการณ์การส่งออกของไทยในช่วงโควิด-19 โอกาสสูงติดลบ 7% หากยืดเยื้อทั้งปี ดีสุดจบได้ใน 6 เดือน ส่งออกติดลบ 1.8% แนะเอกชนต้องปรับตัวเข้าสถานการณ์เพื่อดันการส่งออกให้โต

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ “วิกฤต โควิด-19” พ่นพิษส่งอออกไทยไปแดนมังกร และตลาดโลก ว่า จากพิษโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในหลายประเทศชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดหลักของไทย เช่น อาเซียน ฮ่องกง ญี่ปุ่น จีน และยุโรป รวมไปถึงเศรษฐกิจโลกถดถอยและคาดการณ์จาก IMF ว่าเศรษฐกิจโลกจะติดลบ 2% สำหรับศูนย์ศึกษาฯ มองว่ามีโอกาสติดลบ 2.5% ถึง ขยายตัว 0.5% รวมไปถึงปัจจัยค่าเงินบาทผันผวน ความขัดแย้งในหลายประเทศ จากปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียเม็ดเงินจากการส่งออกทั้งปีถึง 5 แสนล้านบาท โดยทำให้ประเทศไทยส่งออกทั้งปีมีโอกาสติดลบสูง 7% ซึ่งจะเป็นการส่งออกติดลบสูงสุดในรอบ 10 ปี หรือการส่งอออกไทยทั้งปีอยู่ในกรอบ ติดลบ 1.8% ถึงติดลบ 7%

สำหรับสมมุติฐานภายใต้สถานการณ์การแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออก กรณีปกติ เศรษฐกิจโลกขยายตัว 0.5% อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ สถานการณ์โควิด-19 จบภายใน 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน) ราคาน้ำมันอยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สงครามการค้าของสหรัฐกับประเทศคู่ค้า มีข้อตกลงก้าวหน้ามากขึ้น ส่วนกรณีที่แย่มาก คือ เศรษฐกิจโลกติดลบ 2.5% อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ สถานการณ์โควิด-19 ขยายเวลาไปจนถึงทั้งปี หรือมากกว่าเดือนกันยายน ราคาน้ำมันอยู่ที่ 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สงครามการค้าของสหรัฐกับประเทศคู่ค้า ไม่มีข้อตกลงหรือไม่มีความก้าวหน้าเลย

“หากการส่งออกไทยติดลบ 7% มูลค่าอยู่ที่ 228,816 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึงว่าเป็นกรณีที่แย่ที่สุด หากเป็นกรณีที่ปกติ การส่งออกติดลบ 1.8% มูลค่าจะอยู่ที่ 241,846 ล้านเหรียญสหรัฐ”

ส่วนตลาดส่งออกสำคัญของไทยแบ่งเป็นกรณีแย่ที่สุดและภาวะปกติ ช่วงโควิด-19 เช่น สหรัฐ ไทยมีโอกาสส่งออกติดลบ 4.1% หรือส่งออกภาวะปกติ ติดลบ 0.7% ยุโรป ไทยมีโอกาสส่งออกติดลบ 3.9% หรือส่งออกในภาวะปกติ ติดลบ 1.0% จีน ไทยมีโอกาสส่งออกติดลบ 13.5% หรือส่งออกในภาวะปกติ ติดลบ 1.2% กลุ่มประเทศอาเซียน ไทยมีโอกาสส่งออกติดลบ 7.7% หรือส่งออกในภาวะปกติ ติดลบ 1.7% ฮ่องกง ไทยมีโอกาสส่งออกติดลบ 34.2% หรือส่งออกในภาวะปกติ ติดลบ 15.0% และญี่ปุ่น ไทยมีโอกาสส่งออกติดลบ 5.9% หรือส่งออกในภาวะปกติ ติดลบ 1.5% เป็นต้น ซึ่งโดยรวมการส่งออกส่วนใหญ่ของไทยยังติดลบจากปัจจัยดังกล่าว โดยหากจะส่งออกได้ดีเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ควบคุมได้ การค้า การส่งออกเริ่มเข้าสู่ปกติ

ทั้งนี้ หากมองเฉพาะตลาดจีน ทั้งปีการส่งออกติดลบ 1.2% ถึงติดลบ 13.5% หรือมีมูลค่าระหว่าง 28,070-24,563 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ปัจจัยมาจาก รายได้ของคนจรนลดลง จีนห้ามต่างชาติเข้าประเทศกระทบต่อการทำธุรกิจให้ล่าช้าออกไป โรงงานผลิตในจีนยังเดินหน้าผลิตไม่เต็มที่ ยังขาดเรื่องของแรงงาน วัตถุดิบที่เข้าระบบช้า ปัญหาการล็อคดาวน์ของหลายประเทศซึ่งกระทบต่อระบบขนส่ง พฤติกรรมการซื้อสินค้าของจีนไปสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากเลี่ยงการแพร่เชื้อ

สำหรับสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบสำหรับการส่งออกไทยไปจีน คือ สินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เนื่องจากไทยส่งวัตถุดิบดังกล่าวให้จีนเพื่อผลิตและส่งออก ซึ่งคาดว่าจะติดลบ 14.2% หรือมีมูลค่า 16,601 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าเกษตรกรรม อาทิ กุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง ปาล์มน้ำมัน ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และข้าว จากที่จีนมีสต็อก 120 ล้านตัน คาดว่าจะติดลบ 22.0% หรือมีมูลค่า 4,704 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร อาทิ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผักกระป๋องและผักแปรรูป เครื่องดื่ม คาดติดลบ 30.0% หรือมีมูลค่า 699 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นกรณีที่แย่ที่สุดโดยโควิดยืดเยื้อทั้งปี

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้ประกอบการต้งอปรับตัวในช่วงนี้ คือ 1.ร่วมทำธุรกิจ Online Grocery ในประเทศและหาพาร์เนอร์ในต่างประเทศ 2.ทำ Cost Sharing ในกลุ่มคลัสเตอร์ เพื่อลดภาระต้นทุน 3.ขยายตลาดในประเทศโดยสร้างโปรโมชั่นที่จูงใจ 4.ปรับปรุงเครื่องจักรที่ล้าสมัย 5.พัฒนาศักยภาพแรงงาน เช่น ทักษะในการขายสินค้า online และพัฒนาฝีมือแรงงาน 6.พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม