โรงงานภาคกลางไฟตกดับบ่อย เอกชนสบช่องร้องรัฐกลางวงครม.สัญจร

เอกชนร้องไฟตกดับบ่อยพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะในนิคม จี้รัฐเร่งแก้ไขหวั่นกระทบการผลิต “อุตตม สาวนายน” สั่ง กนอ.เร่งแก้ไข สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน เอกชนในพื้นที่พร้อมลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 ราย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.สัญจร) เมื่อเร็ว ๆ นี้ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รวมถึงหอการค้าไทย และผู้ประกอบการโรงงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ได้มีการนำเสนอปัญหาที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการแก้ไขคือ ปัญหาไฟฟ้าตกและดับในพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) ซึ่งแม้ว่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ แต่เมื่อระบบไฟฟ้ามีปัญหา เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ จะหยุดชะงักและต้องใช้เวลาในการเริ่มต้นระบบผลิตใหม่ โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งหน่วยงานที่ดูแลคือ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) อุตสาหกรรมจังหวัด และการไฟฟ้าที่รับผิดชอบในพื้นที่ต่าง ๆ เร่งดำเนินการแก้ไข เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีโรงงานรวมประมาณ 2,400 โรง และมีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่รวม 3 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บ้านหว้า) และนิคมสหรัตนนคร ที่มีโรงงานตั้งอยู่อีกกว่า 200 โรง

นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ภายหลังจากลงพื้นที่ก็พบว่า กรณีปัญหาไฟฟ้าดับและไฟตกจะเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ 1) อุบัติเหตุทั่วไปที่เกิดขึ้นจากระบบสายส่งไฟฟ้า และ 2) ในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ทำให้ระบบไฟฟ้ามีความตึงตัว จนกระทั่งเกิดไฟฟ้าตกหรือดับ ในแง่ของการป้องกันอุบัติเหตุนั้นสามารถทำได้ทันทีคือ การตัดแต่งต้นไม้ที่อาจจะเกี่ยวเกาะสายไฟฟ้าได้ ส่วนในแง่ของระบบไฟฟ้าก็จะประสานไปที่หน่วยงานเกี่ยวข้องต่อไปเพื่อแก้ไข ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในพื้นที่ภาคกลางเท่านั้น ได้รับรายงานว่าเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเดิมทีก็มีปัญหาอยู่แล้ว เนื่องจากกำลังผลิตภาพรวมมีมากกว่าความต้องการใช้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยังต้องใช้วิธีส่งไฟฟ้าจากพื้นที่ภาคกลางลงไปเสริมด้วย รวมถึงนิคมอุตสหากรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ที่เริ่มขยายตัวมากขึ้น จะต้องวางแผนระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงเพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

“อย่างในพื้นที่ภาคใต้ที่ยังไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ตามแผนนั้น บางช่วงก็อาจจะต้องรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียเข้ามาเสริม ซึ่งก็มีราคาค่าไฟฟ้าค่อนข้างแพงเมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อไฟฟ้าจากระบบปกติ เมื่อพิจารณาพื้นที่ที่จะพัฒนาให้เกิดนิคมใหม่ ๆ ตามมา อย่างเช่น นิคมอุตสาหกรรมสะเดา จังหวัดสงขลา แต่ในช่วงเริ่มต้นของนิคมอาจจะยังไม่มีปัญหาเพราะผู้ประกอบการเป็นกลุ่มคลังสินค้าที่ไม่ได้มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากนัก รวมถึงขณะนี้ต้องดูนิคมอื่น ๆ ทั่วประเทศด้วยว่า มีความพร้อมด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับการขยายตัวหรือไม่”

ด้านแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้สนใจที่จะเข้ามาลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่ประเภทโรงไฟฟ้าขยะ ประเภท RDF พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร รวม 2 ราย เช่น บริษัทในเครือเบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีจี แอนด์ ซี 5714 จำกัด ซึ่งหากพัฒนาโครงการในพื้นที่ได้ก็จะช่วยแก้ปัญหาไฟฟ้าตกดับได้ ที่สำคัญจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนด้วย

ขณะที่นายวรวุฒิ อนุรักษ์วงศ์ศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทเตรียมขยายการลงทุนเพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่รองรับความต้องการใช้ของผู้ประกอบการที่จะเพิ่มขึ้นในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จากเดิมที่มีกำลังผลิตเพียง 117 เมกะวัตต์ ให้เพิ่มเป็น 235 เมกะวัตต์

ด้าน กฟผ.รายงานถึงระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑลว่า เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งในอนาคตจะเริ่มมีโรงไฟฟ้าที่หมดอายุลง ทำให้ กฟผ.ต้องเตรียมสร้างส่วนโรงไฟฟ้าทดแทนเพื่อรักษาความมั่นคงให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานในช่วงปี 2562-2568 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง รวม 5 โรง กำลังผลิตโรงละ 1,300 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตใหม่ในช่วงดังกล่าว 6,500 เมกะวัตต์