โควิด-ราคาน้ำมันดิ่ง ทุบเงินเฟ้อมี.ค.63 ลบ 0.54% ครั้งแรกในรอบ 33 เดือน ย้ำยังไม่ใช่เงินฝืด

สนค.เผยเงินเฟ้อมีนาคม 2563 ติดลบ 0.54% ผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ทำพิษ ขณะที่ปรับประมาณการเงินเฟ้อทั้งปีใหม่ ติดลบ 0.6% ยอมรับเงินเฟ้อติดลบจากหลายปัจจัย ยันยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมีนาคม 2563 เท่ากับ 101.82 ติดลบ 0.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหดตัวครั้งแรกในรอบ 33 เดือน และเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 51 เดือนนับแต่เดือนมกราคม 2559 โดยปัจจัยหลักมาจากปัญหาโควิด-19 และการลดลงของกลุ่มพลังงาน ซึ่งลดลงต่ำสุดในรอบ 48 เดือน ส่วนปัญหาภัยแล้งยังไม่ส่งผลกระทบที่ชัดเจนในขณะนี้ยังต้องรอติดตามอีกครั้ง ขณะที่ไตรมาสแรกเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 0.41%

“เงินเฟ้อที่ติดลบในขณะนี้ มองว่ายังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดเนื่องจากดูจากสถานการณ์แล้ว เนื่องจากปัญหาคือเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัวมากกว่าและภาวะแบบนี้ ไม่ใช่สถานการณ์ที่เป็นปกติ แต่ก็ยอมรับว่าเงินเฟ้ออาจจะติดลบก็จริง แต่สาเหตุหลักมาจากปัจจัยเรื่องน้ำมันที่ลดลงเยอะมาก แต่หากเราดูดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักน้ำมันและอาหารออก ดัชนีเงินเฟ้อก็ยังเป็นบวกอยู่ ทั้งนี้ ความต้องการสินค้าและกำลังซื้ออาจจะชะลอตัวบ้างในช่วงโควิด-19 แต่ยังไม่ได้หดตัวมากขนาดที่เรียกว่าเข้าสู่ภาวะเงินฝืด”

สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคม ลดลง 0.54% เป็นผลมาจากกลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.74% จากการลดลงของหมวดยานพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร 4.93% ส่วนหมวดที่ปรับสูงขึ้น เช่น หมวดเคหสถาน สูงขึ้น 0.09% หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้น 0.09% หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา สูงขึ้น 0.47% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 0.36% ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.58% สูงขึ้นทุกหมวด ยกเว้น ผักสด ลดลง 5.40% เนื่องจากปริมาณผักสดเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับปริมาณนักท่องเที่ยวลดลง การปิดสถานบริการ

สินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น 7.68% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 1.78% ผลไม้ สูงขึ้น 2.25% เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 2.30% อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ลดลง 0.86% ไตรมาส 1 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 0.41% และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลง 0.22%

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า สนค. ได้ทำการทบทวนคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2563 ใหม่ เป็นขยายตัวติดลบ 0.2 ถึง ติดลบ 1% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ ติดลบ 0.6% ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 ภายใต้สมมุติฐาน คือ การขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ติดลบ 4.8 ถึง ติดลบ 5.8% น้ำมันดิบตลาดดูไบอยู่ที่ 35-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 30.5-32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ในกรณีเลวร้าย คือเงินเฟ้อติดลบ 1% จะถือเป็นการติดลบมากสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ ก็เป็นไปตามที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดจีดีพีเป็นติดลบ 5.8% และหน่วยงานอื่นก็มีการปรับคาดการณ์จีดีพีเป็นติดลบเกือบ 6% จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย สนค.จึงปรับประมาณการใหม่

จากเดิมการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ 2563 คาดการณ์ไว้อยู่ที่ 0.4-1.2% เฉลี่ยค่ากลางอยู่ที่ 0.8% ภายใต้สมมุติฐานทั้งปี 253 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีพีดี) 2.7-3.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 58-68 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ


อย่างไรก็ตาม ในส่วนของราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้าและค่าขนส่ง ทาง สนค.เห็นว่า ขณะนี้ราคาน้ำมันได้ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง 2-3 เดือนแล้ว และน่าจะเป็นเหตุผลให้ผู้ผลิต หรือผู้ให้บริการด้านการขนส่ง ปรับลดราคาสินค้าและค่าขนส่งลงมา เพื่อดูแลผู้บริโภคและช่วยเหลือประชาชน เพราะตอนที่น้ำมันขึ้นราคา ก็มีการปรับขึ้นราคาในทันที แต่พอน้ำมันลด กลับไม่ยอมลดราคาลงตาม ทั้งนี้ ก็อาจจะขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะหากยังไม่สามารถแก้ไขได้และภาครัฐเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น เชื่อว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิตโดยรวม ดังนั้น จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน