มาตรการเยียวยาโควิดไร้ผล กกร.คาดส่งออก 2563 ลบ 10% ตกงานกว่าล้านคน เงินเฟ้อติดลบ 1.5%

กกร.เคาะมาตรการเพิ่มเติมให้รัฐเข้าดูแล เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งแรงงาน ผู้ประกอบการ เน้น ขอปิด โรงแรมทั่วประเทศ จ้างพนักงานรายชั่วโมง ลดค่าไฟฟ้า ลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ(กกร.) เปิดเผยว่า จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบภาคเศรษฐกิจหดตัวลงทุกรายการ ทั้งการท่องเที่ยว การส่งออก การผลิตและการลงทุน มีเพียงการบริโภคสินค้าไม่คงทนที่ยังขยายตัว และประเมินว่าจะแย่ลงอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเฉพาะเศรษฐกิจในประเทศแต่รวมไปถึงหลายประเทศทั่วโลกเห็นได้จากหลายสถาบันต่างปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกลง ส่วนกกร.จะประเมินเศรษฐกิจไทยอีกครั้งในเดือนหน้า ส่วนการส่งออกทั้งปี 2563 คาดว่าโอกาสติดลบ 5% ถึง ติดลบ 10% ขณะที่เงินเฟ้อ โอกาสติดลบ 1.5%

สำหรับมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบระยะที่ 1-2 และเตรียมที่จะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติมของภาครัฐ รวมถึงมีมาตรการจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินต่างๆ เบื้องต้น ประเมินว่าอาจจะไม่สามารถทดแทนผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจและประชาชน จากการขาดรายได้และการหยุดหรือปิดกิจการ โดย กกร. ประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยอาจมีมูลค่าสูงถึงหลักล้านล้านบาท และกระทบการจ้างงานหลายล้านคน คาดว่าคนจะตกงานถึง 7 ล้านคนใน 2 เดือนนี้ นอกจากนี้ หากการระบาดของ COVID-19 สามารถยุติลงได้ภายในช่วงครึ่งปีแรก การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ สู่ภาวะปกติก็คงต้องใช้เวลา

ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร. ยังมีมติจัดตั้ง E-Commerce Platform เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงตลาดใหม่ๆได้มากขึ้น อีกทั้ง กกร. ยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมให้กับภาครัฐ ในแต่ละมาตรการ คือ ด้านผู้ประกอบการ

1.ขอให้ภาครัฐพิจารณาออกคำสั่งปิดกิจการของรัฐ ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมหรืองานบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าข่ายกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการของรัฐ และพนักงานจะได้เงินชดเชยตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด (โดยยกเว้นให้โรงแรมหรือบริการอื่นๆ ที่มีความจำเป็น สามารถเปิดกิจการโดยความสมัครใจ อาทิ เป็นที่พักบุคคลากรทางการแพทย์ หรือ ที่พักของผู้กักตัว เป็นต้น)

2.ขอให้ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศ และปัจจุบันต้นทุนค่าน้ำมันได้ลดลงอย่างมาก จึงขอให้ค่า FT สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงด้วย 3.เพิ่มสภาพคล่องโดยการอัดฉีดวงเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจ ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% โดยให้ บสย.ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มจาก 40% เป็น 80% 4.ให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการป้องกันการระบาดของ Covid-19 5.รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงาน ซื้อสินค้า จากผู้ผลิตในประเทศ (Made-in-Thailand) ในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้ใน Covid-19

มาตรการด้านแรงงาน

1. ขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการเพิ่มเติมให้แรงงาน ลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ได้รับการชดเชยรายได้ โดยพนักงานที่เข้าระบบ Leave without pay จะไม่สามารถได้รับเงินชดเชยการหยุดกิจการของสถานประกอบการชั่วคราวจากคำสั่งของรัฐ และไม่เข้าหลักเกณฑ์เยียวยา 5,000 บาท ดังนั้น ควรมีมาตรการชดเชยช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคม โดยจ่ายเงิน 50% ของค่าจ้าง ตามที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม

2. อนุญาตให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 325 บาทต่อวัน คิดเป็น ชั่วโมงละ 40-41 บาท ต่อการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง และ ไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน (ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน)

3.ลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง จาก 4% เหลือ 1% ให้เท่ากับผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 4.เสนอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาทโดยยังได้รับ เงินเดือน 75% และไม่ตกงาน รวมทั้งสามารถช่วยเหลือ โดย บริษัทที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่มีโอกาสปลดแรงงานออก สามารถที่จะจ่ายเงินเดือนในจำนวนเงิน 75% ของเงินเดือนที่ได้รับปกติ โดยภาครัฐสนับสนุนค่าจ้างเงินเดือน 50% (จากประกันสังคม) และบริษัทเอกชนจ่ายอีก 25% ให้พนักงานและแรงงานที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท 5. บริษัทสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนค่าจ้างแรงงานมาใช้หักภาษีได้ 3 เท่าในช่วงระหว่าง COVID-19 ระบาด

มาตรการด้าน Logistic 1.ปัจจุบันแต่ละจังหวัดมีการประกาศมาตรการไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดปัญหาในการขนส่ง กกร.จึงขอเสนอให้ ศบค. ประกาศมาตรการจากส่วนกลางเพื่อปฎิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ โดยขอให้ กกร. มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการเพื่อให้สามารถปฎิบัติได้

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันในการปิดกิจการของโรงแรมนั้น มีเพียง 10 จังหวัดทั่วประเทศที่มีคำสั่งปิดจากผู้ว่าราชการจังหวัด และยังมีอีกหลายจังหวัดที่ผู้ประกอบการโรงแรมต้องการปิด จากปัญหาโรคไวรัสโควิด -19 แต่ยังไม่สามารถปิดได้แม้จะไม่มีผู้เข้ามาใช้บริการ ทั้งนี้ เนื่องจากยังมีเรื่องของต้นทุน และพนักงานที่ต้องการดูแล ดังนั้น จึงต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลและต้องการให้มีนโยบายสั่งปิด เพื่อที่จะให้พนักงานโรงแรมเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่ได้รับการเยียวยา เพราะหากไม่ได้ถูกสั่งจากหน่วยงานรัฐ พนักงานไม่ได้เข้าไปอยู่ในมาตรการเยียวยารวมไปถึงผู้ประกอบการด้วย จึงต้องแบกรับภาระที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยังต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลในเรื่องของระบบขนส่ง ซึ่งปัจจุบันพบว่าระบบการขนส่งโดยเฉพาะในการข้ามพื้นที่แต่ละจังหวัดมีมาตรการดูแลไม่เหมือนกัน ทำให้การขนส่งมีปัญหาหรือล่าช้าออกไปบ้าง และการขอเอกสารขนย้ายไม่ได้ออกมาจากหน่วยงานเดียวกัน แต่ละสินค้าต้องขอเอกสารจากหน่ายงานที่ไม่เหมือนกัน และเมื่อแสดงเอกสารก็ไม่ได้รับการยอมรับ จำเป็นต้องการไปขออีกหน่ายงาน ซึ่งอดีตไม่เคยจำเป็นต้องขอ ประเด็นนี้ ต้องการให้หน่วยงานรัฐทำระบบขนส่ง เอกสารในการขนย้ายให้เป็นระบบเดียวกันและเป็นที่ยอมรับ เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการขนย้ายให้ได้เร็วที่สุดด้วย

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สำหรับสถาบันการเงินทุกสถาบันขณะนี้ อำนวยความสะดวกในการนำเงินเข้าไปเติมในตู้ ATM มากขึ้นเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปเบิกเงินสดจากตู้ ATM ได้สะดวก จากปัญหาปัจจุบันนี้ ดังนั้น ประชาชนจึงไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ นอกจากนี้ ยังต้องการแนะนำให้ประชาชนเข้าไปใช้ระบบการจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กันให้มากขึ้น เพราะสะดวกและมีความรวดเร็วมากขึ้น