วิกฤตโรคระบาดม้าในไทย! ปศุสัตว์ถกแพทย์-ฟาร์มม้า ตั้งคกก.หาสาเหตุ เร่งนำเข้าวัคซีนจากแอฟริกา

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหากาฬโรคแอฟริกาในม้า (เอเอชเอส) ว่า การหารือในครั้งนี้เป็นการหาข้อสรุปและแก้ปัญหาเรื่องกาฬโรคม้า ร่วมกับเจ้าของฟาร์มม้า ผู้เลี้ยงม้า กรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้นที่ประชุมจึงมีข้อสรุป ดังนี้ ห้ามมีการเคลื่อนย้ายม้า และม้าลาย เป็นเวลา 90 วัน เพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อ และตั้งคณะทำงานฯ โดยกรมปศุสัตว์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานฯ ร่วมกับกรมอุทยานฯ และเจ้าของม้า เพื่อหารือกันเกี่ยวกับการควบคุมโรค อาทิ การลงพื้นที่เจาะเลือดม้าเพื่อนำมาตรวจสอบหาโรค หรือปฎิบัติตามที่เจ้าของม้าต้องการ โดยจะเริ่มประชุมนัดแรกในวันที่ 10 เมษายนนี้ เพื่อร่วมกันหาวิธีหยุดโรคนี้โดยฉับพลัน

“ยังไม่มีการพูดถึงประเด็นชดเชยดังกล่าว เนื่องจากต้องการควบคุมและหยุดการเกิดโรคนี้ให้ได้ก่อน ว่ามาจากไหนสัตว์ใดเป็นพาหะ ซึ่งตอนนี้ทราบแล้วว่า ลิ้น และไร ที่เกิดจากการดูดเลือดม้าตัวหนึ่งไปกัดม้าอีกตัวหนึ่ง ซึ่งต้นตอของปัญหาที่แท้จริง กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ในขณะนี้” นายประภัตร กล่าว

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบจำนวนม้าที่เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม-7 เมษายน พบว่า ปัจจุบันม้าเสียชีวิตจากกาฬโรค หรือกาฬโรคแอฟฟริกาในม้า ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ตรวจพบในพื้นที่ 6 จังหวัด จังหวัดนครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี เพรชบุรี ชัยภูมิ และราชบุรี รวมทั้งหมดจำนวน 199 ตัว ซึ่งในจำนวนนี้มีการเสียชีวิตมากที่สุดในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 175 ตัว แต่ในปัจจุบันแนวโน้มของการเกิดโรคมีจำนวนลดลง ในจังหวัดอื่นๆ นอกจากจังหวัดนครราชสีมาขณะนี้ไม่มีการรายงานจำนวนม้าตายเพิ่มเติม

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า หลังจากการเกิดโรคดังกล่าว ได้มีการตรวจสอบประชากรม้าทั่วประเทศในปัจจุบัน มีจำนวนประมาณ 11,800 ตัว มีผู้เลี้ยงม้า จำนวน 1,850 ราย พบมีการเลี้ยงม้ามากที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา 1,790 ตัว เพรชบุรี 820 ตัว กรุงเทพฯ 740 ตัว ราชบุรี 687 ตัว และชลบุรี 567 ตัว นอกจากนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนโรคและควบคุมโรคในทางวิชาการ ซึ่งได้มีการปฎิบัติงานอย่างต่อเนื่อง และได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการโรคม้าในจังหวัดนครราชสีมาโดยเฉพาะ เพื่อควบคุมในเรื่องการเคลื่อนย้ายสัตว์

“สำหรับแนวทางในการควบคุมโรค ระยะที่ 1 ได้ขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในการประกาศเขตเฝ้าระวัง และชะลอการเคลื่อนย้ายม้า ลา ล่อ ม้าลาย และอูฐ รวมทั้งได้ขอความร่วมมือ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดำเนินการควบคุมตรวจสอบและเคลื่อนย้ายผู้ที่ทำผิดตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังได้มีการประสานไปยังผู้เลี้ยงม้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เฝ้าระวังการเกิดโรค เพื่อช่วยกันหยุดโรคระบาดนี้โดยเร็ว อาทิ การทำคอกกางมุ้งให้กับม้า เพื่อป้องกันลิ้น ไร เป็นต้น” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวอีกว่า สำหรับ ระยะที่ 2 คือการเฝ้าระวังว่าโรคนี้จะต้องดำเนินการต่อไป เพื่อให้เชื้อไวรัสหมดไปจากประเทศไทย ต้องมีการนำเข้าวัคซีน โดยจะเป็นเรื่องทางวิชาการ ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ได้เชิญแพทย์รักษาม้า ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือร่วมกันโดยได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า จะต้องมีการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรค จากต่างประเทศ ซึ่งมีอยู่ในบางประเทศเท่านั้น อาทิ แอฟฟริกาใต้ ซึ่งจะต้องใช้วัคซีนอย่างควบคุม เพราะเป็นวัคซีนเชื้อเป็น ซึ่งต้องมีการระมัดระวังในการใช้เพราะถ้าควบคุมการใช้ไม่ได้อาจทำให้เกิดความยืดเยื้อของโรคนี้ได้ จึงต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ก่อนที่จะนำมาใช้จริงต่อไป หลังจากการหยุดโรคระบาดนี้ได้แล้ว ไทยจะต้องดูแลควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดซ้ำ ภายใน 2 ปี ก่อนจะประกาศให้ทั่วโลกได้ทราบว่าไทยปลอดภัยจากการระบาดแล้ว ขอให้มั่นใจในการทำงานกรมปศุสัตว์ต่อไป