ผลสอบช่องโหว่บริหารจัดการหน้ากากอนามัยถึงมือปลัดพาณิชย์แล้ว ย้ำไม่โฟกัส “ตัวบุคคล”

คณะกรรมการฯ ตรวจสอบหน้ากากอนามัย เผยส่งผลสอบไปยังปลัดพาณิชย์เล้ว ชี้ไม่ได้พุ่งเป้าเอาผิดใคร เน้นตรวจสอบขั้นตอนการทำงาน รอลุ้นปลัดกระทรวงพาณิชย์พิจารณา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย ซึ่งมีนายสุพพัต อ่องแสงคุณ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เป็นกรรมการ เช่น ตำรวจ, กฤษฎีกา, อย. ฯลฯ นั้น เป็นการแต่งตั้งโดยนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เมื่อช่วงกลางมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยของศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย กระทรวงพาณิชย์ ในช่วงที่ผ่านมา โดยมี นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) องค์การเภสัชกรรม เป็นต้น ว่ามีช่องโหว่จริงหรือไม่ จนนำมาซึ่งการกักตุนหน้ากากอนามัย และส่งออกหน้ากากอนามัยไปต่างประเทศ

ทั้งนี้ จากการสอบถามประธานคณะกรรมการฯ ถึงความคืบหน้าของการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น เบื้องต้น ดำเนินการตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว โดยเรื่องดังกล่าวได้ส่งผลการสอบไปให้ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พิจารณา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา และยังไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมาดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

เบื้องต้น แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย ทางคณะกรรมการฯ ได้ส่งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา และยังไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมาดำเนินการต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยผลการสอบนั้น คณะกรรมฯไม่ได้พุ่งเป้าไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่จะเน้นตรวจสอบในเรื่องของการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย ที่มีการร้องเรียนผ่านหลายหน่วยงาน

และผลตรวจสอบของคณะกรรมการฯ ดำเนินการเพียงสอบข้อเท็จจริง ยังไม่ได้สรุปว่าการดำเนินการหรือตัดสินว่าใครผิดหรือไม่ผิด เพราะต้องเสนอไปยังคณะกรรมการฯ ชุดที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้พิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามไปยังนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เพื่อถามความคืบหน้าผลการสอบของคณะกรรมการฯ แต่ปรากฎว่าไม่สามารถติดต่อไปได้ ดังนั้น ผลการพิจารณายังต้องรอให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้เสนอเพียงผู้เดียว

สำหรับการตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงจากเอกสารหลักฐานต่างๆ รวมถึงสอบถามจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของกรมการค้าภายใน เบื้องต้นพบว่า การดำเนินการของกรมการค้าภายใน ที่ส่งเจ้าหน้าที่กรมฯ และทหาร ไปเฝ้าที่โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยทั้ง 11 แห่ง ในช่วงเวลาตั้งแต่ 07.00-17.00 น. เพื่อเช็กสต๊อก ป้องกันไม่ให้โรงงานแอบเอาหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ไปขายหลังร้าน และต้องส่งทุกชิ้นที่ผลิตได้ให้ศูนย์บริหารจัดการฯ เพื่อนำไปกระจายต่อให้กับโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเสี่ยง และประชาชนนั้น ไม่มีช่องโหว่ที่จะทำให้หน้ากากอนามัยหลุดรอดเข้าสู่ช่องทางการค้าปกติ หรือโรงงานเอาไปขายหลังร้านได้

แต่หลังจากพ้นช่วงเวลาควบคุม หรือตั้งแต่ 17.01 น. เป็นต้นไป พบว่ามีช่องโหว่จริง เนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่ติดตามดูแล ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าหลังจากเวลาดังกล่าวจะมีการดำเนินการใดๆ จากนี้หรือไม่ ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าจะมีการนำจำหน่ายหน้ากากอนามัยออกมาขายหรือไม่ หรือมีการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จหรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการตรวจสอบในเชิงลึกมากขึ้น ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบ จะไม่มีการพุ่งเป้าไปที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่พุ่งเป้าไปถึงวิธีการบริหารจัดการ ข้อมูล ข้อเท็จจริงทั้งหมด พร้อมทั้งพิจารณาจากข้อเรียกร้องต่างนำมาประกอบด้วย เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทำไหมราคาแพง มีการส่งออก เกิดการกักตุน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ผลสอบของกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การหาความผิดของบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่หากจะเอาผิด หรือไม่เอาผิดกับผู้เกี่ยวข้อง ก็สามารถพิจารณาจากเจตนาของการกระทำ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ เช่น ประมาท เลินเล่อ จนทำให้เกิดช่องโหว่หรือไม่ หรือมีผลประโยชน์ร่วมกันกับโรงงานหรือไม่ หรือตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 เจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบโรงงานทุกซอกทุกมุมได้หรือไม่ เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของปลัดกระทรวงพาณิชย์