งัด 5 มาตรการ ช่วยชาวสวนขนส่งผลไม้ไม่สะดุด หลังบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินปิดจังหวัด

“พาณิชย์” ปรับแผนดูแลผลไม้ เตรียมใช้ 5 มาตรกาด่วนเข้ามาแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากที่สุด พร้อมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาขนส่งลำบาก จากการปิดจังหวัดในหลายพื้นที่
นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับมาตรกาดูแลราคาผลไม้ช่วงผลผลิตที่กำลังออกสู่ เป็น 5 มาตรการด่วน ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น และเป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรในช่วงนี้
สำหรับ 5 มาตรการได้แก่ 1.มาตรการด้านการผลิต จะมีการบริหารจัดการเรื่องแรงงานเก็บผลไม้ โดยจะมีการผ่อนผันการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขต แต่จะมีการเข้มงวดเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัย, การดูแลความเป็นธรรมเรื่องราคาและปริมาณ จะมีการใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า และกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเข้ามาควบคุม , การส่งเสริมให้การซื้อขายผ่านสัญญาข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบการกับเกษตรกร , การเชื่อมโยงการกระจายผลผลิตกับห้าง ผู้ใช้ ผู้แปรรูป และการสนับสนุนกล่องบรรจุผลไม้ ขนาด 5 กิโลกรัม (กก.) 10 กก. และ 20 กก.
2.มาตรการด้านตลาดในประเทศ จะเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย โดยการสนับสนุนค่าขนส่ง มีไปรษณีย์ไทยมาช่วยในการจัดส่งผลไม้ ปริมาณฟรี 200 ตัน และกำลังหารือจะเพิ่มปริมาณได้อีกหรือไม่ , การผลักดันให้นำผลไม้จำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ , การส่งเสริมให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ ขายผลไม้ทางช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะเข้าไปช่วยสอนให้ , การรณรงค์การบริโภคผลไม้ในประเทศ และส่งเสริมให้นำผลไม้มอบเป็นของฝากของขวัญ
3.มาตรการด้านตลาดต่างประเทศ จะจัดการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (บิสสิเนส แมชชิ่ง) ระหว่างผู้ซื้อ ผู้นำเข้า กับผู้ประกอบการไทย หากทำได้ก็จะดำเนินการต่อ และจะเพิ่มการทำแมชชิ่งในรูปแบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะรวมถึงสินค้าตัวอื่นๆ ด้วย , การจัดคาราวานผลไม้ไปจำหน่ายผลไม้ในประเทศเพื่อนบ้าน , การประชาสัมพันธ์ผลไม้ในตลาดต่างประเทศ จะยังคงเดินหน้าต่อ ทั้งรูปแบบเดิม คือ ผ่านห้างสรรพสินค้า การจัดโปรโมชั่นต่างๆ แต่จะเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์ผ่านออนไลน์มากขึ้น และได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์เป็นเซลล์แมนขายผลไม้ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด และช่วยดูในเรื่องการจัดหาสินค้านำเข้า เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งทางอากาศ เช่น มะม่วง ส่งไปเกาหลีใต้และญี่ปุ่น มีการคิดค่าบริการเต็ม ทั้งไป-กลับ แต่สินค้ามีแต่ขาไป ขากลับไม่มี โดยถูกคิดราคาเต็ม ทำให้ค่าระวางสูง จึงต้องแก้ไขให้มีสินค้าขากลับเข้ามาด้วย เพื่อลดต้นทุน
4.มาตรการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ จะสนับสนุนดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการที่รวบรวมผลไม้ในอัตรา 3% ระยะเวลา 10 เดือน ชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการที่รวบรวมผลไม้เพื่อส่งออกในอัตรา 3% ระยะเวลา 6 เดือน และช่วยค่าใช้จ่ายรวบรวมเพื่อส่งออกอีกกก.ละ 3 บาท เป้าหมาย 1 หมื่นตัน 5.มาตรการเสริมศักยภาพการบริหารจัดการผลไม้ในเรื่องมาตรฐาน จะดำเนินการผลักดันให้มีการยอมรับมาตรฐานการตรวจสอบร่วมกัน หากผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานจากเซ็นทรัล แลป ของไทยแล้ว เมื่อส่งออกไปจีน ก็จะไม่มีการตรวจสอบจากองค์กรตรวจสอบและรับรองคุณภาพจีน (CCIC) อีก และจะมีการสนับสนุนค่าตรวจสอบของแลปให้กับผู้ส่งออก เพื่อลดต้นทุนในการส่งออกด้วย
ส่วนการแก้ไขปัญหาในเรื่องการขนส่งล่าช้า ได้ประสานกระทรวงคมนาคมให้เข้ามาช่วย รวมถึงกระทรวงมหาดไทยให้ช่วยดูแล เพราะการขนส่งสินค้าในประเทศ ขณะนี้ บางจังหวัดมีการปิดจังหวัด ทำให้เวลาขนผลไม้เข้าไป คนขับก็ถูกตรวจสอบ และกักตัว ซึ่งใช้เวลานาน กว่าจะขนตู้กลับมาได้ ส่วนขนส่งไปต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน มีการตรวจสอบ และกักตัว 14 วัน แต่ถ้าทางอากาศ ปกติเคยส่งไปพร้อมเครื่องบินที่ส่งผู้โดยสาร แต่ตอนนี้หยุดบิน ทำให้ค่าขนส่งสูงขึ้น ซึ่งต้องขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายในการเข้ามาช่วยเหลือ