กนอ.ขึ้นค่าที่นิคมยางสวนทางเศรษฐกิจ

สวนทางเศรษฐกิจขาลง “ต้นทุนที่ดิน-ค่าก่อสร้างขยับ” กนอ.จ่อขึ้นราคาเช่า/ซื้อ “นิคมอุตสาหกรรมยางพารา” จ.สงขลา อีก 10% ดีเดย์ 1 ก.ค. 63 ส่วนนิคมทั่วประเทศ 14 แห่ง ต้องลุ้นราคาประเมินกรมธนารักษ์

นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการ (สายงานปฏิบัติการ 2) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กนอ.ได้ประกาศให้ผู้ประกอบการ และนักลงทุนรับทราบถึงการปรับอัตราค่าเช่า และซื้อที่ดินขึ้น 10% จากราคาปัจจุบัน ในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) จ.สงขลา เนื่องจากราคาที่ดิน ค่าดำเนินการและการก่อสร้างปรับขึ้น โดยจะมีผลในวันที่ 1 ก.ค. 2563 นี้

โดยอัตราราคาของแต่ละพื้นที่นั้นจะแตกต่างกันในแต่ละโซน ซึ่งปัจจุบันเขตอุตสาหกรรมยางขั้นกลางน้ำ ราคาขายอยู่ที่ 2,700,000 บาท/ปี ราคาค่าเช่า 170,000 บาท/ไร่/ปี, เขตอุตสาหกรรมทั่วไป ราคาขาย 2,900,000 บาท/ปี ราคาค่าเช่า 182,000 บาท/ไร่/ปี, เขตอุตสาหกรรมยางขั้นปลายน้ำส่วนหลัง ราคาขาย 2,950,000 บาท/ปี ราคาค่าเช่า 185,000 บาท/ไร่/ปี

เขตอุตสาหกรรมยางขั้นปลายน้ำส่วนแรก ราคาขาย 3,200,000 บาท/ปี ราคาค่าเช่า 201,000 บาท/ไร่/ปี ส่วนพื้นที่บริการและพาณิชยกรรม และเขตอุตสาหกรรมทั่วไปสะอาด ราคาขาย 3,500,000 บาท/ปี ราคาค่าเช่า 220,000 บาท/ไร่/ปี ซึ่ง กนอ.จะคงอัตราราคาเช่า/ซื้อดังกล่าวจนถึง 30 มิ.ย.นี้ซึ่งโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ตั้งอยู่ในพื้นที่ระยะที่ 2/2 และ 3 ของนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ อยู่ใน ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ขนาดพื้นที่ 1,218 ไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเชิง cluster สำหรับอุตสาหกรรมยางกลางน้ำและปลายน้ำ อาทิ นวัตกรรมยาง ผลิตภัณฑ์จากน้ำยางข้น ยางคอมพาวนด์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

โดยมีการแบ่งพื้นที่เป็น พื้นที่ premium zone เน้นรองรับอุตสาหกรรมทั่วไป หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยางพารา โดยเป็นอุตสาหกรรมสะอาดที่ไม่มีมลพิษ (clean industry) จำนวน 20 แปลง (438 ไร่) และพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยางพาราขั้นกลางและขั้นปลาย 77 แปลง (779 ไร่) ปัจจุบันมีการก่อสร้างและกระจายพื้นที่ไปแล้วส่วนหนึ่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่เฟสใหม่ เพื่อขายในอนาคตเพิ่มเติม

นายจักรรัฐกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมของนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศขณะนี้นับว่าซบเซา ไม่เว้นแม้แต่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากปัญหาของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องชะลอการพัฒนาพื้นที่เกือบทุกแห่ง

“ระหว่างนี้แต่ละนิคมต้องทำโปรโมชั่นกันหรือไม่ ตอบว่าไม่ เพราะต้องรอเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น และเมื่อยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ส่วนจะพัฒนาพื้นที่ทำรอไปจนกว่าการลงทุนจะกลับมา น่าจะยังไม่มีใครเอาเงินไปทุ่มในตอนนี้”

ในส่วนของ กนอ.เองปัจจุบันมีที่ดำเนินการเอง 14 แห่ง ท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมที่ร่วมดำเนินงานเอกชน 45 แห่ง รวมทั้งหมดมีนิคมอุตสาหกรรม 59 แห่ง ใน 16 จังหวัด


สำหรับนิคม 14 แห่งนี้ จะมีการปรับอัตราค่าเช่า/ซื้อที่ดินใหม่ทุก ๆ 3 ปี ซึ่งจะต้องปรับไปตามราคาที่ดินตามกลไกตลาด และราคาประเมินของกรมธนารักษ์ ดังนั้นแล้วแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดจะปรับขึ้นในอัตราที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับภาวะของตลาด