ลุ้นออร์เดอร์ 8 โรงงานดันส่งออกไก่เข้าจีนพ้นโควิด

โควิดทุบตลาดส่งออกไก่ 1.2 แสนล้านสะเทือน กำลังซื้อหด “ส.ผู้ผลิตไก่” ลุ้นออร์เดอร์ Q3 หลังจีนรับรอง 8 โรงงานดันยอดอีก 2 หมื่นตัน พยุงเป้าหมายส่งออกปี 2563 ไว้ให้ได้ 9.8 แสนตันบาลานซ์ตลาดในประเทศวูบ นักท่องเที่ยวหาย ราคาไก่หน้าฟาร์มร่วง กก.ละ 4 บาท

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมคงเป้าหมายการส่งออกปี 2563 ปริมาณ 980,000 ตัน มูลค่า 120,000 ล้านบาท จากปัจจัยบวกตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่คาดว่าปีนี้จะส่งออกได้เพิ่มขึ้นอีกถึง 15,000-20,000 ตัน หลังจากที่จีนได้ประกาศขึ้นทะเบียนโรงเชือดสัตว์ปีกจำนวน 8 โรงงาน จะทำให้สามารถส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีนได้

ขณะที่ตลาดส่งออกอื่นซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ที่ยังไม่คลี่คลาย คาดว่าจะมีการชะลอคำสั่งซื้อไตรมาส 3 โดยเฉพาะกลุ่มตลาดหลัก อาทิ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องประสบกับภาวะไก่ล้นตลาด แต่ออร์เดอร์ช่วงไตรมาส 1-2 ที่ผ่านมาได้ส่งออกไปหมดแล้ว ดังนั้น ต้องลุ้นไตรมาส 3 ซึ่งขณะนี้ลูกค้าตลาดต่างประเทศยังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะสั่งมาหรือไม่

ทั้งนี้ ปัจจุบันส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 438,000 ตัน มูลค่า 59,700 ล้านบาท โดยล่าสุดก่อนหน้านี้คาดว่ากรณีเลื่อนโอลิมปิกจะไม่กระทบมากนักเนื่องจากฟื้นตัวได้เร็ว แต่ขณะนี้เริ่มส่งสัญญาณการระบาดอีกครั้ง ลูกค้าจึงน่าจะต้องรอสถานการณ์ก่อน รวมไปถึงอันดับ 2 ตลาดสหภาพยุโรป (EU) ประมาณ 320,000 ตัน และยังคงโควตาเดิมมูลค่า 33,800 ล้านบาท ตลาดอื่น ๆ 196,000 ตัน มูลค่า 18,000 ล้านบาท ต้องรอดูสถานการณ์เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม จากผลของโควิด-19 กระทบตลาดในประเทศค่อนข้างมาก โดยเฉพาะโรงแรมไม่มีนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร ตลาด ประกอบกับโรงเรียนปิดเทอม ประชาชนขาดกำลังซื้อ ส่งผลให้อัตราการบริโภคไก่ลดลง ด้วยเหตุนี้ราคาไก่ที่เกษตรกรขายได้หน้าฟาร์มอ่อนตัวลงเฉลี่ยที่ กก.ละ 30 บาท จากก่อนหน้านี้ กก.ละ 33-34 บาท

“เราพร้อมส่งออกอยู่ตลอดเวลา รอเพียงออร์เดอร์ที่เข้ามาเท่านั้น แต่ตอนนี้ยังบอกอะไรไม่ได้ การประชุมก็ถูกเลื่อนไป และลูกค้าตลาดหลักก็รอดูสถานการณ์ ขณะนี้เป็นช่วงรับออร์เดอร์ไตรมาส 3 ซึ่งมีประเทศจีนและสิงคโปร์ที่มีคำสั่งซื้อแน่นอนเข้ามาปกติ ทั้งนี้ หากโรคระบาดยังไม่คลี่คลายช่วง 2 เดือนนี้ ผู้เลี้ยงของไทยอาจต้องปรับตัวลดกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับตลาด เพราะในประเทศราคาเริ่มอ่อนตัวลงโดยเฉพาะผู้เลี้ยงระบบคอนแทร็กต์ฟาร์ม ดังนั้น ผู้เลี้ยงก็มีความกังวลมากเพราะนักท่องเที่ยวในประเทศหายไปเลย 100% และออร์เดอร์ที่ส่งสัญญาณชะลอ”

สำหรับโรงเชือด 8 โรงงาน ได้รับการขึ้นทะเบียนโรงงานใหม่จำนวน 7 แห่งได้แก่ บริษัท ไก่สดเซนทาโก จำกัด บริษัท อาหารเบทเทอร์ จำกัด บริษัท ซันฟู้ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท คาร์กิลล์มีทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท บี.ฟู้ดส์ โปรดักส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท ตะนาวศรี ไก่ไทย จำกัด และรับรองขอบข่ายชิ้นส่วนไก่แช่แข็งเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง คือ บริษัท ซิลเวอร์ ฟาร์ม เซ็นเตอร์ จำกัด

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ปีนี้คาดการณ์การผลิตเนื้อไก่ของไทยจะมีปริมาณ 2.88 ล้านตัน โดยการบริโภคในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 62.91% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด สำหรับสินค้าไก่เนื้อ ความต้องการบริโภคเนื้อไก่ของตลาดในประเทศมีแนวโน้มลดลงสะท้อนกำลังซื้อ และจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศลดลงจากสถานการณ์โควิด-19

และด้วยเหตุที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ทำให้ความต้องการบริโภคไก่ลดลงตาม ส่งผลให้ราคาไก่ในประเทศลดลง ตามรายงานของกรมการค้าภายใน ระบุว่า ราคาไก่มีชีวิตทั่วไปหน้าโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ กก.ละ 33-34 บาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ราคา กก.ละ 36 บาท ราคาไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน กก.ละ 60-65 บาท ลดลง5 บาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ราคาไก่สดทั้งตัวไม่รวมเครื่องใน กก.ละ 65-70 บาทต่อกิโลกรัม ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ราคาขายปลีกไก่สดชำแหละ น่อง สะโพก กก.ละ 60-65 บาทลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งจำหน่าย กก.ละ 65-70 บาท