ครม.อุ้มโรงกลั่นสั่งลดสต๊อก พิษ “โควิด” ฉุดดีมานด์น้ำมันรถ-เจ็ตวูบ

ครม.เคาะมาตรการอุ้มโรงกลั่น ลดสต๊อกจาก 6% เหลือ 4-5% ยาว 2 ปี หลังโควิดฉุดความต้องการใช้น้ำมันวูบต่ำกว่าเป้าหมาย 6% ทั้งรถ-น้ำมันเครื่องบินเกือบเป็น 0 โรงกลั่นแบกสต๊อกอ่วม เอกชนแนะดันส่งออกน้ำมันดิบ พร้อมปรับเวลาให้บริการปั๊มน้ำมันรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการปรับลดอัตราสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมายเดิมกำหนด 6% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งประสบปัญหาการใช้น้ำมันที่ลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน ทำให้ประสบปัญหาถังเก็บน้ำมันไม่เพียงพอ ตามที่ (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอนั้น ทางกรมอยู่ระหว่างจัดทำประกาศเรื่องมาตรการนี้ โดยระยะแรกกำหนดให้ลดสำรองจาก 6% เหลือ 4% เป็นระยะเวลา 1 ปี นับจากเดือนเมษายน 2563-เมษายน 2564 จากนั้นระยะที่ 2 สำรองเป็น 5% เป็นระยะเวลาอีก 1 ปี

“เหตุผลสำคัญของการออกมาตรการเพราะความต้องการใช้น้ำมันลดลงมาก โดยเฉพาะน้ำมันเจ็ตเหลือค้างสต๊อกปริมาณมาก หลังจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้สายการบินไม่สามารถดำเนินการได้ต้องลดเที่ยวบิน จึงเป็นภาระสต๊อก เพราะน้ำมันที่กลั่นออกมาส่วนหนึ่งเป็นน้ำมันเครื่องบิน ส่วนการแก้ไขด้วยการที่จะผลักดันส่งออกก็ทำไม่ได้ ขณะนี้ทางกรมกำลังทำตัวเลขละเอียด โดยประสานให้โรงกลั่นน้ำมันและผู้ค้าน้ำมันจัดทำรายงานตัวเลขประเมินสถานการณ์ล่าสุดถึงปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน การสต๊อก และผลจากการใช้มาตรการว่าเป็นอย่างไร คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้”

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า เดิมพยากรณ์แนวโน้มการใช้น้ำมันสำเร็จรูปปี 2563 อยู่ที่ 132.5 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 6.6% จากปีก่อนที่ใช้ 124.2 ล้านลิตรต่อวัน โดยเป็นส่วนของน้ำมันอากาศยาน (jet A-1) อยู่ที่ 20.8 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 7.4% จากปีก่อนที่ใช้ 19.3 ล้านลิตรต่อวัน แต่ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ภาพรวมความต้องการในการใช้น้ำมันลดลง 5-6% โดยเฉพาะน้ำมันสำหรับเติมเครื่องบินแทบจะหายไปเลย ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นที่ต้องกลั่นน้ำมันเจ็ตออกมาทุกวัน ไม่มีพื้นที่สต๊อก

“ช่วงการระบาดของโควิดประชาชนต้องอยู่บ้าน ลดการเดินทางและการขนส่งสาธารณะ ซึ่งหากโรงกลั่นยิ่งกลั่นจะยิ่งขาดทุน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลดีจากการลดปริมาณสต๊อกน้ำมันจะช่วยธุรกิจโรงกลั่นให้มีต้นทุนลดลง แต่มาตรการนี้ส่งผลต่อราคาขายปลีกน้ำมัน ค่อนข้างน้อย”

นายพงศธร ฉัตรนะรัชต์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SUSCO เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในส่วนของความต้องการใช้น้ำมันเจ็ตปัจจุบันลดลงเหลือ 10-20% จากช่วงปกติ เนื่องจากจำนวนนักเที่ยวที่เดินทางเข้ามาลดลง จากวัน 1.3 แสนคน เหลือวันละไม่กี่พันคน มีการประกาศยกเลิกเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมด เหลือเฉพาะเที่ยวบินภายในประเทศเพียงไม่กี่เที่ยวบิน ในส่วนผู้ค้าปลีกน้ำมัน มีหลักเกณฑ์กำหนดให้มีการสต๊อกเพียง 1% จึงมองมาตรการนี้ช่วยลดการขาดทุนให้กับกลุ่มโรงกลั่นมากกว่า เพราะปัญหาสต๊อกน้ำมันทั้งโลกกำลังรุนแรง หลังรัสเซียและซาอุดีอาระเบียมีประเด็นขัดแย้งกัน และยังมีการผลิตส่วนเกินออกมาถึง 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้โรงกลั่นในต่างประเทศหยุดกลั่น ส่วนโรงกลั่นในไทยยังไม่รุนแรงถึงขั้นนั้น เพียงแต่ต้องระบายของ

“ผลจากการประกาศมาตรการเคอร์ฟิว ทำให้ประชาชนลดการเดินทางออกจากบ้าน และทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันลดลง 8-10% ในเดือนมีนาคม แต่ในเดือนเมษายนจะรุนแรงขึ้นหรือไม่เพียงใด เพราะปกติเดือนนี้หยุดเยอะ ประชาชนจะเดินทางท่องเที่ยว เป็นช่วงพีกที่มีความต้องการใช้น้ำมันมากที่สุดของปี แต่อีกด้านอาจจะมีการนำรถยนต์ส่วนตัวมาใช้มากขึ้นแทนรถสาธารณะ แต่ภาพรวมการใช้ก็ลดลงแน่นอน”

สำหรับการปรับตัวของธุรกิจสถานีบริการน้ำมันหลังประกาศพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินขณะนี้ ซัสโก้ยังเปิดบริการครบทุกแห่ง แต่ปรับเวลาให้บริการลดลงเหลือ 05.00-21.00 น. และมีการปรับลดค่าเช่าพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการร้านค้าที่ขายภายในปั๊ม

อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ปัญหาการลดสต๊อกควรต้องช่วยผลักดันการส่งออกน้ำมันดิบมากขึ้น เพื่อระบายสต๊อกและเพิ่มพื้นที่เก็บ ซึ่งล่าสุดช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) 2563 ไทยส่งออกน้ำมันดิบมีมูลค่า 3,675 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ไปยังตลาดส่งออกหลัก คือ จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ อังกฤษ และสหรัฐ ขณะที่การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปมีมูลค่า 38,294 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ไปยังตลาดหลัก คือ กัมพูชา สิงคโปร์ ลาว มาเลเซีย และเวียดนาม

สำหรับธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน 6 บริษัท ประกอบด้วย บมจ.ไทยออยล์ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล บมจ.ไออาร์พีซี บมจ.เอสโซ่ บมจ.สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง และ บมจ. บางจาก