ส่องงบอัดฉีดเกษตรกร 9.5 หมื่นล้าน ฝ่าวิกฤตโควิด-19 พร้อมถุงยังชีพ อ.ต.ก.แจก 15 ล้านครัวเรือน

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมนำโครงการเพื่อดำเนินการในภาวะเร่งด่วนเพื่อรองรับผลกระทบภัยแล้ง และ โควิด-19 วงเงิน 95,543.11 ล้านบาท เสนอของบจากรัฐบาล ใน มาตรการดูแลผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจจากไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 3 ที่รัฐบาลกันส่วนที่จะเยียวยาไว้ประมาณ 6 แสนล้านบาท ผู้ได้รับผลกระทบ

โดยในส่วนนั้นกระทรวงเกษตรจะเสนอของบประมาณมาเพื่อช่วยเหลือ เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และแรงงานคืนถิ่น หลังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และแก้ปัญหาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 วงเงินที่กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอ มี 2 ส่วนคือ งบแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภาคการเกษตรจากวิกฤตโควิด-19 วงเงิน 61,531.5378 ล้านบาท และเป็นงบป้องกันและแก้ปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง วงเงิน 34,011.57 ล้านบาท

สำหรับ งบแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภาคการเกษตรจากวิกฤตโควิด-19 วงเงิน 61,531.5378 ล้านบาท รายละเอียดประกอบไปด้วย ชดเชยรายได้และค่าครองชีพให้แก่ครัวเรือนเกษตรกร 50,558.95 ล้านบาท ด้วยการประกัน รายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 งบ 35,196.65 ล้านบาท และสนับสนุนค่าครองชีพให้แก่ครัวเรือน เกษตรกร 15,362.3 ล้านบาท ด้วยการชะลอการขายยางของเกษตรกรชาวสวนยางจากผลกระทบการแพร่ ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ ยังได้สั่งการให้มีการจัดหาถุงเกษตรยังชีพ เพื่อเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 15 ล้านครัวเรือน

รวมถึงงบการ พัฒนา Big data ด้านการเกษตร 31.7 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจคาดการณ์ เศรษฐกิจการเกษตรต่อผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และภัยแล้งของภาคเกษตร แก้ปัญหาผลกระทบจากการปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร 200 ล้านบาท โดยการ สนับสนุนเงินสำหรับกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

นอกจากนี้ยังมี งบประมาณไปช่วยเหลือด้านการพัฒนาอาชีพของเกษตรกรทั่วไปและแรงงานคืนถิ่น การสร้างทักษะและ ส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร 9,022.42 ล้านบาท อาทิ การสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร 6,258.7 ล้านบาท ด้วยการส่งเสริมอาชีพ ด้านการเลี้ยงสัตว์น้ำ 5,494.2 ล้านบาท การส่งเสริมและสนับสนุนการแปรูปสัตว์น้ำ และพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าประมง ส่งเสริมอาชีพด้านการปศุสัตว์ 749.5 ล้านบาทและ พัฒนาคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพร 15 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังมีการพัฒนาอาชีพแรงงานคืนถิ่นและสร้างความเข้มแข็งสถาบันเกษตรกร 2,763.72 ล้านบาท ด้วยการสร้างชุมชนเข้มแข็งแบบครบวงจรในสถาบันเกษตรกร สนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อ ช่วยเหลือเกษตรกรลดการใช้สารเคมีการเกษตรโดยระบบสหกรณ์พัฒนาแรงงานคืนถิ่นพลิกฟื้นผืนดินเกษตรไทย ด้วยศาสตร์พระราชา โดยเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) และส่งเสริมอาชีพการปลูกพืชในเขตปฏิรูปที่ดินตาม แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร 392.45 ล้านบาท,บริหารจัดการสินค้าเกษตรและสร้างมูลค่าเพิ่ม 1,326 ล้านบาท ด้วยการสนับสนุน อุปกรณ์/สิ่งก่อสร้างเพื่อพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร

ส่วนงบประมาณแก้ปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง วงเงิน 34,011.57 ล้านบาท จะจัดสรร เพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตทางการเกษตร 33,700.43 ล้านบาท ด้วยการ พัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทาน 27,917.48 ล้านบาท อาทิ การก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ก่อสร้างโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำชลประทานและแหล่งน้ำธรรมชาติซ่อมแซม/ปรับปรุง อาคารชลประทานที่เสียหายเนื่องจากอุทกภัย ปรับปรุงและติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน และจัดหา เครื่องจักรเครื่องมือเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง

ขณะเดียวกัน ยังรวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำระดับชุมชน 2,250 ล้านบาท อาทิ ขุดสระน้ำในไร่นาของเกษตรกร สนับสนุนระบบสูบน้ำใต้ดินพลังงานแสงอาทิตย์ ระดับไร่นา สร้างฝายโดยการมีส่วนร่วมของชุนชน ส่งเสริมการใช้ยางภาครัฐ 3,512.78 ล้านบาท และส่งเสริม การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร 20 ล้านบาท พัฒนาศักยภาพการผลิต 311.14 ล้านบาท ด้วยการพัฒนาสุขภาพสัตว์ 216 ล้านบาท โดยส่งเสริมสุขภาพแม่โคเนื้อ กระบือ แพะอุ้มท้องและเลี้ยงลูกอ่อน และพัฒนาการผลิตพันธุ์พืช 95.14 ล้านบาท โดยผลิตเมล็ดพันธุ์พืชคุณภาพดีและตรวจสอบรับรองมาตรฐานเมล็ดพันธุ์คุณภาพ