ทียูจี้รัฐเจียดงบโควิดอุ้มฟาร์มกุ้ง จ่ายโลละ30บาท พยุงอุตสาหกรรม6หมื่นล้าน

TU แนะรัฐเจียดงบฯเยียวยาโควิด 4,500 ล้านชดเชยส่วนต่างราคากุ้ง กก.ละ 30 บาท ปริมาณ 1.5 แสนตัน ยาว 7 เดือน ทั้งอุ้มเกษตรกร-อุตสาหกรรมทั้งระบบมูลค่า 60,000 ล้าน จ้างงาน 1 แสน รักษาส่วนแบ่งกุ้งไทยในตลาดโลก ทียูพร้อมรับซื้อ 60,000 ตัน

นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป (TU) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่มีการประชุมแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำจากการระบาดของโควิด-19 ระหว่างกรมประมง และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกุ้งวานนี้ (9 เม.ย.) มีมติว่าจะไม่ใช้วิธีการรับจำนำหรือประกันรายได้ แต่จะชดเชยส่วนต่างราคาให้เกษตรกร โดยคำนวณต้นทุนบวกกำไรให้อยู่ได้ เช่น กุ้งขนาด 100 ตัว/กก. เกษตรกรขอราคา กก.ละ 130 บาท แต่ทางห้องเย็นและผู้ส่งออกรับไม่ไหวเพราะออร์เดอร์ส่งออกลดลงหลังจากเกิดโควิด-19 จึงเสนอว่าจะซื้อได้ในราคา กก.ละ 100 บาท ตามกลไกราคาตลาดปกติ ขณะที่ส่วนต่างราคาอีก30 บาทนั้น ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับข้อเสนอว่าจะช่วยชดเชยส่วนต่างราคาให้ แต่ยังไม่สรุปว่าจะใช้งบประมาณปกติหรือจากแหล่งใด

“ต้องเห็นใจภาครัฐจะแก้ปัญหาอย่างไรผมว่ารัฐบาลควรดึงงบประมาณจากการเยียวยาโควิด-19 มาช่วยชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกร กก.ละ 30 บาท เป็นเวลา 7 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค.-ธ.ค. 2563 ซึ่งเบื้องต้นคิดว่าน่าจะมีผลผลิตเดือนละ 20,000 ตัน รวม 150,000 ตัน ใช้วงเงินได้ 4,500 บาท โดยวิธีการนี้รัฐเพียงแค่จ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรเท่านั้น ส่วนทางห้องเย็นจะช่วยรับซื้อส่งออกไปทำตลาดตามปกติ ทางทียูก็พร้อมช่วยเพราะเราซื้อกุ้งเป็นเบอร์ 1 ของประเทศอยู่แล้ว แต่ละปีรับได้ 40% หรือ 60,000 ตันและก็ยังมีผู้ส่งออกรายอื่น สมาชิกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งก็ช่วยกันรับซื้อได้ ขอแค่อย่าบิดเบือนราคาตลาด อย่าไปจำนำหรือซื้อเก็บ เพราะที่ผ่านมาเราซื้อกุ้งมาเก็บในห้องเย็นมีต้นทุนสูงเป็น 20,000-30,000 ล้านบาท สูงกว่าชดเชยอีก”

ทั้งนี้ หากดำเนินมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจในการเลี้ยงกุ้ง เพราะแต่ละรายต้องวางแผนการเลี้ยง 3-4 เดือนต่อรอบ ส่วนห้องเย็นก็จะไม่เดือดร้อน เพราะสามารถรับซื้อได้ตามราคาตลาดไม่ต้องสต๊อกจนเป็นภาระสภาพคล่อง และผู้ส่งออกก็อยู่ได้ไม่ต้องปิดโรงงานและเลย์ออฟคนงาน เพราะมาตรการนี้ไม่บิดเบือนราคาสูงจึงแข่งขันได้ และยังทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะมีซัพพลายเพียงพอสำหรับส่งมอบให้กับลูกค้าตามออร์เดอร์ ท้ายที่สุดช่วยให้ไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดกุ้งไทยในตลาดโลก ซึ่งสร้างรายได้ให้ประเทศ 50,000-60,000 ล้านบาท ใช้แรงงาน 100,000 คนในอุตสาหกรรม

“โควิด-19 ทำให้ส่งออกกุ้งลดลงซ้ำเติมปัญหาเดิมต่อเนื่องมาหลายปีจากภาวะตายด่วน EMS ที่ไทยต้องลดการเลี้ยงกุ้งจาก 600,000 เหลือ 250,000-270,000 ตัน เสียแชมป์ส่งออกไปแล้ว ห้องเย็นก็ประสบปัญหาล้มจนไปเหลือจริง 10 ราย ตอนนี้แรงงานในซัพพลายเชนน่าจะมีประมาณ 1 แสนคน เพราะไปกันหมดจนเหลือแต่กลุ่มตัวจริง ๆ แล้ว ซึ่งถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแล”

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ที่ปรึกษาสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทยเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ภายในเดือนนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ราคากุ้งตกต่ำ โดยจะให้กลุ่มห้องเย็นแปรรูปกุ้งส่งออก กำหนดราคารับซื้อในระดับที่สามารถแข่งขันได้ ผู้ผลิตอาหารสัตว์จะลดราคาอาหารกุ้ง 25% จากปกติ กลุ่มชมรมโรงเพาะฟัก จะแถมลูกกุ้งให้เกษตรกร 20% มาตรการดังกล่าวจะดำเนินการเป็นเวลา 3 เดือน