ชาวไร่มันสำปะหลัง-ข้าวโพด เฮ พาณิชย์เคาะชดเชยภัยแล้ง

“จุรินทร์” เผยหลังประชุมคณะกรรมการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฯ คณะกรรมการมันสำปะหลังฯ ถึงข่าวดี เตรียมเสนอ ครม. ของบประมาณช่วยเหลือให้ได้รับชดเชยรายได้ สหรับผู้ตกค้าง และเกษตรกรผู้ปลูกมันฯที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยที่ประชุมมีมติขยายระยะเวลาโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ซึ่งโครงการเริ่มวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 – 31 พฤษภาคม 2563 ซึ่งจะครบกำหนดในอีก 2 เดือน แต่เมื่อพิจารณาแล้วผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงวันที่ 1-30 มิถุนายน 2562 ไม่ได้รับเงินส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้ ที่ประชุมจึงเห็นชอบเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้รับเงินส่วนต่างด้วยในอัตรา 29 สตางค์ต่อกิโลกรัม (กก.) โดยมีเกษตรกรประมาณ 1.5 แสนราย ที่จะได้รับเงิน ต้องใช้เงินงบประมาณ 670 ล้านบาท ซึ่งได้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายไปก่อน และรัฐบาลจะตั้งงบประมาณจ่ายชดเชยให้ในปีถัดไป และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไปด้วย

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้พิจารณาเห็นชอบให้มีการทำประกันภัยพืชผลข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกร หากประสบปัญหาภัยพิบัติ 7 ชนิด ได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาพายุ เป็นต้น และโรคระบาด โดยรัฐบาลจะร่วมมือกับ ธ.ก.ส. จ่ายเบี้ยประกันให้กับเกษตรกรในอัตราไร่ละ 160 บาท โดยรัฐบาลจ่าย 96 บาท ธ.ก.ส. ช่วยจ่าย 64 บาท หากต่อไปข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้รับความเสียหายจายภัยพิบัติ จะได้รับการชดเชยไร่ละ 1,500 บาท แต่ถ้าเป็นโรคระบาด จะได้รับชดเชยไร่ละ 750 บาท ใช้วงเงิน 313 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อน และรัฐบาลจะตั้งงบชดเชยให้ภายหลัง

ทั้งนี้ ยังได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) โดยที่ประชุมได้มีมติเพิ่มวงเงินชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง เพราะขณะนี้ราคาหัวมันสดมีแนวโน้มลดลง จากปัญหาภัยแล้ง ทำให้เชื้อแป้งไม่ได้ตามเกณฑ์ และยังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ตลาดต่างประเทศมีปัญหาในเรื่องของการนำเข้าสินค้า สำหรับวงเงินที่มีอยู่เดิมในการช่วยเหลือเกษตรกรนั้นไม่น่าจะเพียงพอที่จะจ่ายชดเชยรายได้ โดยที่ประชุมพิจารณาจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อขออนุมัติวงเงินเพิ่มเติมอีก 460 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่เบื้องต้น การจ่ายเงินจะให้ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อน และรัฐบาลจะชดเชยให้ปีถัดไป

ปัจจุบัน รัฐบาลได้ประกันรายได้มันสำปะหลังที่กก.ละ 2.50 บาท มีกำหนดจ่ายเงินชดเชยรวม 12 งวด เดือนละ 1 งวดทุกวันที่ 1 ของเดือน จ่ายมาแล้ว 5 งวด คงเหลือ 7 งวด และงวดถัดไปจะจ่ายวันที่ 1 พ.ค.2563 แต่ราคาปัจจุบัน เฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 2.08-2.10 บาท ทำให้ต้องจ่ายชดเชยเพิ่มขึ้น โดยผลผลิตได้ออกสู่ตลาดแล้วประมาณ 50% คงเหลืออีก 50% อย่างไรก็ตาม จากปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรกรตกต่ำ ทำให้ต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างเพิ่มมากขึ้น ทำให้งวดที่ 6 ถึงงวดที่ 12 ที่ยังค้างอยู่นั้นต้องใช้วงเงินเพิ่มเติม จึงต้องเร่งเสนอ ครมซ พิจารณา

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ขอความร่วมมือไปยัง 4 สมาคมที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลัง โดยขอให้ไปหารือร่วมกันร่วมกับตัวแทนของกระทรวงพาณิชย์ว่าจะช่วยรับซื้อหัวมันสำปะหลังสดจากเกษตรกรในราคากก.ละ 2.30 บาท ที่เชื้อแป้ง 25% ได้หรือไม่ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ในยามวิกฤต และช่วยลดภาระของรัฐบาลที่จะต้องจ่ายส่วนต่าง โดยขอให้มีคำตอบโดยเร็วที่สุด

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้โครงการประกันรายได้พืชเกษตร 5 ชนิด ได้ดำเนินการมีความคืบหน้าโดยลำดับ แต่ยังพบปัญหามีเกษตรกรส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชย จึงได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน ตั้งศูนย์รับเรื่องจากเกษตรกรที่เชื่อว่าตัวเองมีสิทธิ์จากนโยบายประกันรายได้ แต่ไม่ได้รับเงิน หรือติดปัญหาอุปสรรคใดๆ ให้แจ้งเรื่องเข้ามายังสายด่วน 1569 จะมีเจ้าหน้าที่คอยรับเรื่องให้เป็นการเฉพาะ และจะตรวจสอบข้อมูล ก่อนสั่งการไปยังผู้รับผิดชอบในแต่ละจังหวัด เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรที่มีสิทธิ์ได้รับชดเชยส่วนต่างต่อไป

นอกจากนี้ การทำงานระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงพาณิชย์จะต้องมีการดำเนินการบูรณาการมากขึ้น เพื่อที่จะช่วยเหลือเกษตรกร ภายใต้หลักการ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เพื่อจะได้ทำงานควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรครัวละ 5,000 บาท ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้เตรียมการในการตั้งเรื่องที่เกี่ยวกับในเรื่องนี้แล้ว และจะช่วยเหลือเกษตรกรทั้งในส่วนของเกษตรด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง และเกษตรแปรรูป ซึ่งจะต้องทำงานและดูแลทั้งระบบ ต้นทางถึงปลายทาง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ สินค้ามีช่องทางระบายสินค้าออกไปสู่ผู้บริโภค