ลดภาษีนิติบุคคล 50 % ลงทุนเครื่องมือแพทย์สู้โควิด โรงงานหน้ากากอนามัยซีพีได้ด้วย

ภาพประกอบข่าว - ไท่เกี่ยวข้องกับข่าว SEBASTIEN BOZON/AFP via Getty Images

ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 บอร์ดได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นการลงทุนผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีของประชาชน พร้อมด้วยมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขและบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการ

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า มาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมทางการแพทย์เพื่อรับมือกับโควิด-19 จะให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 3 ปี ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์ (เดิมยกเว้นภาษี 3-8 ปีอยู่แล้ว) เช่น การผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึง nonwoven fabric ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ยาและสารออกฤทธิ์สำคัญในยา เป็นต้น

ซึ่งจะครอบคลุมถึงโครงการที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมระหว่างวันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2563 โดยจะต้องเริ่มผลิตและมีรายได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ จะต้องจำหน่ายและหรือบริจาคภายในประเทศอย่างน้อย 50% ของปริมาณที่ผลิตได้ในปี 2563-2564

มาตรการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนสายการผลิตเดิม เพื่อผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรโดยต้องนำเข้าภายในปี 2563 และยื่นขอแก้ไขโครงการภายในเดือนกันยายน 2563

การปรับสิทธิประโยชน์สำหรับกิจการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำทางการแพทย์ โดยเพิ่มเติมขอบข่ายประเภทกิจการผลิตเชื้อเพลิงจากผลผลิตการเกษตรให้ครอบคลุมถึงการผลิตแอลกอฮอล์ทางการแพทย์ (pharmaceutical grade) ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ให้กิจการผลิต nonwoven fabric ที่เป็นวัตถุดิบผลิตหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์การแพทย์จากเดิมยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็น 5 ปี

มาตรการผ่อนปรนเพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการ ซึ่งนักลงทุนหลายรายไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ภายในกรอบเวลาได้ เช่น การขยายเวลานำเข้าเครื่องจักร และเปิดดำเนินการ การขยายเวลาการดำเนินการให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ISO การผ่อนผันการขออนุญาตหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว เกินกว่า 2 เดือน

เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 เลขาธิการบีโอไอ. ให้สัมภาษณ์ ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ว่า โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่กำลังจะเดินเครื่องผลิตในวันที่ 16 เมษายน 2563 เพื่อแจกจ่ายให้คนไทย ก็เข้าหลักเกณฑ์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50 % เป็นเวลา 3 ปี ด้วย

รายงานข่าวระบุว่า มีโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแล้ว และอยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องจักร 6 โครงการ เงินลงทุนรวมประมาณ 378.8 ล้านบาท ที่ขอในช่วงไตรมาส 1 และเป็นโครงการใหม่ทั้งหมด โดยเป็นโครงการของนักลงทุนสัญชาติไทย 4 โครงการ ไต้หวัน 1 โครงการและเป็นโครงการร่วมทุนไทย-จีนอีก 1 โครงการ เพื่อให้ทันรองรับการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมบอร์ดได้ราวนด์อัพภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนของไทยช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 (มกราคม-มีนาคม) มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 378 โครงการ เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 368 โครงการ ขณะที่มีมูลค่าการลงทุนรวม 71,380 ล้านบาท ลดลง 44%

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีมูลค่า 128,460 ล้านบาท เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 10,620 ล้านบาทตามด้วยอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 5,690 ล้านบาทและยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 2,400 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าการขอรับส่งเสริมรวม 27,425 ล้านบาท โดยญี่ปุ่นมีการลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 7,402 ล้านบาท อันดับ 2 คือ จีน มีมูลค่าเงินลงทุน 6,510 ล้านบาท และอันดับ 3 ฮ่องกง มีมูลค่าเงินลงทุน 3,458 ล้านบาท

ส่วนยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่ารวม 47,580 ล้านบาทคิดเป็น 67% ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า EEC เป็นพื้นที่เป้าหมายของนักลงทุนส่วนใหญ่

โดยในการประชุมครั้งนี้บอร์ดได้อนุมัติโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส(ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าการลงทุนรวม 5,480 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงสายการผลิตรถยนต์เดิมที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี สำหรับผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยมีกำลังการผลิตรวม 39,000 คันต่อปี แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (battery electric vehicles-BEV) ประมาณ 9,500 คันต่อปี และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (hybrid electric vehicles-HEV) ประมาณ 29,500 คันต่อปี โดยจะเริ่มผลิตประมาณปี 2566 เพื่อส่งออกไปตลาดอาเซียน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการกำหนดเป้าหมายขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 2563 ยังอยู่ในภาวะลูกผีลูกคน “ยาก” จะกำหนด แต่ก็ต้องเห็นใจทุกภาคส่วนที่ต้องฝ่าฟันสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยลบหลายอย่าง โดยเฉพาะบีโอไอซึ่งยังคงพยายามให้บริการนักลงทุนให้ดีที่สุด