UAE ไฟเขียวสินค้าฮาลาลไทย

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เป็นประตูการค้าสู่ตลาดตะวันออกกลาง ที่ผู้ส่งออกไทยใช้ reexporter สินค้ากระจายไปยังประเทศอื่น ๆ ทำให้ในแต่ละปี ยอดการค้าไทย-UAE ครองอันดับ 1 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เฉลี่ยปีละ 10,636 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อเนื่องมาถึง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2559 โดยเฉพาะสินค้าฮาลาลที่ถือเป็นสินค้าหลักที่ได้รับความนิยมสูงในตลาดนี้

กระทั่งในปี 2560 ไทยประสบปัญหาไม่สามารถส่งออกสินค้าอาหารฮาลาล กลุ่มสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์เข้าตลาด UAE ได้ เนื่องจาก UAE เปลี่ยนแปลงหน่วยงานกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าฮาลาลจากสภาเทศบาลรัฐดูไบ (Dubai Munici-pality : DM) เป็นสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยา (Emirates Authority for Standardization and Metrology : ESMA) ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งมาตรฐานและการตรวจรับรองระบบฮาลาล

ผลคือ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองฮาลาล (certification body) ของไทย “ไม่ผ่าน” การตรวจประเมิน ตามข้อกำหนดใหม่ของ UAE จึงทำให้การส่งออกสินค้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ไม่สามารถส่งออกไป UAE ชะงักไปนานถึง 2 ปี นับจากปี 2561-2562 ซึ่งทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ศึกษาพบว่า ตลาดสินค้าฮาลาลใน UAE ที่เคยส่งออกได้ถึง 239.35 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2559 โดยเฉพาะสินค้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ ที่เคยมีปริมาณเฉลี่ยปีละ 4,695 ตัน หรือมีมูลค่าเฉลี่ย 12.39 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ถือได้ว่าเป็นตลาดส่งออกสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์เบอร์ 5 ของไทย “หายไป”

แต่ด้วยความพยายามในการผลักดันและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ทาง สกอท.ได้รับการรับรองจาก ESMA แล้ว หลังจากที่ Emirates International Accreditation Center (EIAC) สถาบันตรวจรับรองระบบฮาลาลของ UAE ภายใต้ ESMA ได้ตรวจประเมินการรับรองมาตรฐานฮาลาลของ สกอท. ผ่านตามมาตรฐาน UAE.S 2055-2 : 2015 ซึ่งเป็นมาตรฐานข้อกำหนดทั่วไปสำหรับหน่วยงานรับรองฮาลาล และมาตรฐาน OIC/SMIIC 1 : 2019 สำหรับหน่วยงานที่ให้การรับรองฮาลาลเพื่อดำเนินการรับรองตามข้อกำหนดของสินค้าฮาลาลใน 4 ขอบข่าย ประกอบด้วย

1) ขอบข่าย C (โรงเชือดสัตว์ปีก และการแปรรูปสัตว์ปีก/ไข่/ผลิตภัณฑ์นมและอาหารทะเล)

2) ขอบข่าย D (ผัก/ผลไม้สด น้ำผลไม้)

3) ขอบข่าย E (อาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป)

4) ขอบข่าย L (สารปรุงแต่งอาหาร)

โดยมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สกอท.ได้รวบรวมรายชื่อสถานประกอบการ/โรงเชือดสัตว์ ทั้ง 4 ขอบข่ายที่ผ่านการตรวจประเมินให้กับ ESMA เพื่อยืนยันว่าเป็นสถานประกอบการ/โรงเชือดสัตว์ที่ได้รับการตรวจประเมินรับรองมาตรฐานฮาลาล ตามมาตรฐานของ UAE ล่าสุด ESMA ได้ประกาศรายชื่อสถานประกอบการที่ผ่านการรับรอง (list of approved Halal slaughterhouse) ส่งผลให้ผู้ประกอบการตามรายชื่อดังกล่าวสามารถส่งออกสินค้าในกลุ่มสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ไปยัง UAE ได้

ไทยหวังว่าหลังจากแก้ไขปัญหาการส่งออกดังกล่าวแล้วจะช่วยให้ไทยสามารถกลับมาเปิดตลาด “สินค้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์” ใน UAE ได้อีกครั้ง โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าไป UAE ในกลุ่มสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสินค้าฮาลาลชนิดอื่น ๆ จะกลับคืนมามากกว่า 30.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งยังจะเป็นโอกาสสร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานการรับรองฮาลาลในสินค้าฮาลาลของไทยในตลาดตะวันออกกลางในอนาคตได้มากขึ้น เป็นไปตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจและสินค้าฮาลาลแห่งชาติ ปี 2559-2563 ในการสร้างมาตรฐานสินค้าฮาลาลของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อให้ไทยเป็นผู้นำในการส่งออกสินค้าฮาลาลในตลาดโลก