พิษโควิดฉุดความเชื่อมั่นฯ หอการค้า ลดคาดการณ์จีดีพีปี63 ลบ 4.9% จากเดิม 1.1

ศูนย์พยากรณ์ฯ ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ใหม่ระดับ-4.9 ถึง -3.4% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่โต 1.1% จากปัญหาโควิด-19 เป็นหลัก ดันให้ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทย ส่วนใหญ่ลดลงมาต่ำสุดใน 27 เดือน เนื่องจากกระทบทุกอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ หนักกว่าปี 2540
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์ฯ ได้ระเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2563 นี้ ภายใต้สมมติฐานที่ว่ารัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะที่ 3 ออกมา ทั้งเรื่องของการมี พ.ร.ก. ให้คลังกู้เงิน พ.ร.ก. ให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ออก Soft Loan และ พ.ร.ก. ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน ซึ่งรวมวงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยจะทำให้ GDP อยู่ที่ระดับ -4.9% ถึง -3.4% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่โต 1.1% ขณะที่ การส่งออกไทยในปีนี้ คาดว่าจะหดตัวเหลือ -12% ถึง -8.8% จากเดิมคาด -1.1% ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้จะอยู่ที่ระดับ –1% ถึง -0.5% จากเดิมคาดเพิ่มขึ้น 0.7%
 
การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ปัจจัยสำคัญยังเป็นเรื่องของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหดตัวลง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมากในปีนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ภาคครัวเรือนเพิ่มระดับความระมัดระวังในการใช้จ่าย หนี้เสียของสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน
 
อย่างไรก็ดี ในปีนี้ยังมีปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยไม่ให้ทรุดตัวลงไปมาก เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มมีสัญญาณที่ผ่อนคลายมากขึ้น, เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง, ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง, การลงทุนของภาครัฐมีโอกาสเร่งตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน, การลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่ EEC เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น ตลอดจนธนาคารกลางของทั่วโลกต่างปรับนโยบายการเงินเป็นแบบผ่อนคลายมากขึ้น
 
นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยและอาเซียนสามารถคลี่คลายลงได้ในช่วงกลางปี ก็คาดว่าภาคธุรกิจต่างๆ จะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 3 ขณะที่มองว่าภาคการท่องเที่ยวน่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวได้เร็วสุดในช่วงไตรมาส 4
 
ด้าน นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผุ้อำนวยนการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งกระทบต่อทุกกลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มภาคของการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มีผลต่อรายได้และโอกาสที่จะทำให้มีคนว่างงานจำนวนมากขึ้นนั้น ซึ่งจะทำให้ว่างงานกว่า 10 ล้านคนรวมทุกหน่วยธุรกิจ อย่างไรก็ดี ศูนย์พยากรณ์ฯ มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายซึ่งเป็นมาตรการสำหรับภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก มุ่งเน้นพยุงการจ้างงาน และรักษาระดับการบริโภคเพื่อประคองเศรษฐกิจฐานรากไม่ให้ล้มลง โดยมาตรการสำหรับภาคครัวเรือน เช่น ลดภาระรายจ่าย และผ่อนปรนภาระหนี้สินของภาคครัวเรือน, ชดเชยรายได้ให้แก่แรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว, ภาคัฐควรพิจารณาจ่ายเงินอุดหนุน 25-50% ของรายจ่ายค่าจ้าง/เงินเดือน เพื่อชะลอการปลดคนงาน, รักษาอำนาจซื้อของประชาชนด้วยการควบคุมระดับราคาสินค้าที่จำเป็น, อนุมัติให้มีการแจ้งงานแบบรายชั่วโมงเป็นการชั่วคราว
 
ส่วนมาตรการสำหรับภาคธุรกิจ ได้แก่ การลดภาระรายจ่ายและผ่อนปรนภาระหนี้สินของภาคธุรกิจ เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ พักชำระเงินต้น/ดอกเบี้ย ลดอัตราการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม, สนับสนุนสินเชื่อซอฟต์โลนแก่ผู้ประกอบการ SMEs, ให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ธุรกจที่ยังคงจ้างแรงงานในช่วงที่ถูกทางการสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว, ผ่อนคลายบางธุรกิจให้ทยอยเปิดกิจการได้อีกครั้ง
 
สำหรับระยะที่สอง มุ่งเน้นการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยมาตรการสำหรับภาคครัวเรือน ได้แก่ เร่งการลงทุนภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน, อนุมัติให้ภาคธุรกิจสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างกรณีจ้างงานใหม่ (เฉพาะคนที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท) มาหักภาษีได้ 2 เท่าในช่วง 1 ปี หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดคลี่คลาย, เร่งพัฒนาศักยภาพกำลังคน โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล เพื่อรองรับการเปลี่ยนงานใหม่
 
ส่วนมาตรการสำหรับภาคธุรกิจ เช่น การสนับสนุนสินเชื่อซอฟต์โลนแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง, ออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวภายในประเทศ ส่งเสริมให้ส่วนราชการจัดอบรมสัมมนาเฉพาะสถานที่ภายในประเทศเท่านั้น, ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และเพิ่มช่องทางการขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น
 
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนมีนาคม 2563 สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 360 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า อยู่ที่ระดับ 37.5 ซึ่งเป็นการต่ำสุดในรอบ 27 เดือน ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เป็นการหนักสุดกว่าปัญหาต้มยำกุ้งที่ภาคธุรกิจล้มแต่การบริโภค ภาคธุรกิจในต่างจังหวัดยังเดินหน้าได้ แต่ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบทุกกลุ่มธุรกิจหยุดชะงักทำให้ธุรกิจ เศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 37.2 การบริโภค อยู่ที่ระดับ 39.1 การลงทุนอยู่ที่ระดับ 34.3 การท่องเที่ยวอยู่ที่ระดับ 33.4 ภาคเกษตรอยู่ที่ระดับ 36.1 ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 39.3 ภาคการค้าอยู่ที่ระดับ 37.9 ภาคการจ้างงานอยู่ที่ระดับ 36.1 เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ต่ำกว่า 50 และหอการค้าทุกภาคของประเทศดัชนีความเชื่อมั่นต่ำสุด
 
ศูนย์พยากรณ์ฯ เสนอแนวทางแก้ไข คือ ขอให้ภาครัฐพิจารณษมาตรการเพิ่มเติมให้แรงงาน ลูกจ้างในระบบประกันสังคม ให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง ลดระยะเวลาการพิจารณาเข้าถึงสินเชื่อให้เอกชน ผ่อนปรนผู้ติดเครดิตบูโร จัดหาแหล่งน้ำแก้ภัยแล้ง เร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ เป็นต้น