“พาณิชย์” ผุดยุทธศาสตร์เพิ่มศักยภาพสมุนไพรไทยดันเป็นฮับส่งออกอาเซียน

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “สมุนไพรไทยกับความพร้อมในตลาดโลก” จัดโดย สนค. และศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ว่า สนค.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาจากศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ จัดทำร่างยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพตลาดสมุนไพรไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ที่กระทรวงสาธารณสุขจัดทำ มีเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศส่งออกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของอาเซียน และมูลค่าของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัวภายในปี 2564 ในส่วนแผนการส่งเสริมตลาดของสมุนไพรไทย เดิมมีอยู่แต่กระจัดกระจาย กระทรวงพาณิชย์จึงเข้ามาเป็นหน่วยงานหลักดูแลอย่างจริงจัง

“สมุนไพรไทยจะเป็นดาวรุ่งในการเสริมสร้างการส่งออกของสินค้าเกษตรไทย เพราะที่ผ่านมาสินค้าเกษตร ไม่ได้แปรรูป ส่งออกมูลค่าต่ำ แต่สมุนไพรสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม แปรรูปจากวัตถุดิบได้อีกมาก และไทยเองมีศักยภาพที่มีวัตถุดิบปลูกภายในประเทศ มีพันธุ์พืชหลากหลาย และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย คาดหวังว่าหากมีความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ จะทำให้สมุนไพรไทยเป็นสินค้าที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นของที่มีศักยภาพ สามารถแปรรูปได้หลากหลาย ใช้ทั้งในสปาจนถึงทำเป็นอาหารเสริมและยา” นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพตลาดสมุนไพรไทยนั้น จะมี 4 สมุนไพรนำร่อง ประกอบด้วย ขมิ้นชัน ไพล บัวบก และกระชายดำ ตามยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการต่อไปคือ 1.การจัดการวัตถุดิบและการแปรรูป 2.การพัฒนานวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มในการแปรรูปผลิตภัณฑ์สู่มาตรฐานสากล 3.การสร้างโอกาสทางการตลาดสมุนไพรไทยโดยผลักดันให้เป็นอัตลักษณ์ของไทยใหม่ (New Thailand Signature) และ 4.ยุทธศาสตร์สนับสนุน เช่น กฎหมาย กฎระเบียบ และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ข้อมูลการศึกษาศักยภาพของสมุนไพร เช่น ขมิ้นชัน ส่วนใหญ่ 80 % ถูกแปรรูปสู่อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอางอย่างละ 10% ทำให้ตลอดห่วงโซ่อุปทานมีมูลค่าการซื้อขายถึง 6.8 พันล้านบาท แบ่งเป็นเฉพาะอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น อาหาร ยา มีมูลค่าซื้อขาย 5.5 พันล้านบาท ปีที่ผ่านมาส่งออก 12 ล้านบาท ส่วนไพล บัวบก และกระชายดำ ยังส่งออกน้อยมาก

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การส่งออกสมุนไพรของไทยในรูปของวัตถุดิบและสารสกัดที่เป็นแบบแห้งรวมกันแล้วไม่เกิน 1 พันล้านบาทต่อปี ถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับตลาดสมุนไพรของโลกปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านบาท จีนมีสัดส่วนอันดับ 1 ราว 30% คาดการณ์ว่าในปี 2563 ตลาดสมุนไพรโลกจะเพิ่มเป็น 3.8 ล้านล้านบาท นับว่าไทยยังมีโอกาสอยู่อีกมาก หากอีก 3-4 ปี ไทยเพิ่มการส่งออกสมุนไพรโดยรวมได้ถึง 4-5 พันล้านบาท จะดีต่อห่วงโซ่การผลิตสมุนไพรอย่างมาก ตั้งแต่เกษตรกรถึงผู้ประกอบการ

นายอัทธ์ กล่าวว่า ร่างยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพตลาดสมุนไพรไทยนี้ จะนำเสนอต่อกระทรวงพาณิชย์ภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อนำสู่การจัดทำรายละเอียดแผนงานภาคปฏิบัติแล้วส่งให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพิจารณานำสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป เช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สนค. เป็นต้น สำหรับเป้าหมายผลักดันอัตลักษณ์สมุนไพรไทยใหม่ (New Thailand Signature) มีกลยุทธ์คือ สร้างความตระหนักและเห็นคุณค่าความสำคัญของประโยชน์และสรรพคุณสมุนไพรของไทย ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบภาครัฐในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ การท่องเที่ยวเกษตรเชิงสมุนไพร เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานสมุนไพร สนับสนุนการสร้างและรับรองมาตรฐานสมุนไพรไทย และมีพื้นที่วางขาย โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวให้คนสามารถทดลองใช้ได้ ส่วนเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสมุนไพรอย่างยั่งยืน จะต้องมีกลยุทธ์คือควรมีตลาดนัดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้เกิดการพบกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายทุกระดับ ในโรงพยาบาลต้องสนับสนุนให้มีการใช้ยาสมุนไพรให้มากขึ้น และจัดทำฐานข้อมูลงานวิจัยเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์