ส่งออกไทย มี.ค. 2563 ขยายตัว 4.17% โตครั้งแรกในรอบ 8 เดือน

แฟ้มภาพ

ส่งออกไทยเดือนมีนาคม 2563 ขยายตัว 4.17% กลับมาขยายตัวในรอบ 8 เดือน ผลจากสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัว เนื่องจากปัญหาสงครามการค้าเบาลง ขณะที่ ปัญหาโควิด-19 มองเป็นปัจจัยหนุนทำให้เกิดความต้องการสินค้าในกลุ่มอาหาร อาหารแปรรูปเพิ่มขึ้น พร้อมต้องติดตามราคาน้ำมันคาดกระทบต่อการส่งออกไทย

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกไทยเดือนมีนาคม 2563 ขยายตัว 4.17% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวในรอบ 8 เดือน โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 22,405 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการขยายตัวของการส่งออกอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยได้ปัจจัยจากปัญหาสงครามการค้าเบาบางลง อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยของราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำ มีผลกดดันมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ซึ่งมีสัดส่วน 8.12% ของการส่งออกเดือนมีนาคม 2563 ทั้งนี้ หากหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธ ยุทธปัจจัย การส่งออกของไทยในเดือนนี้ยังขยายตัวอยู่ที่ 2.12%

ขณะที่ การนำเข้ามีมูลค่า 20,813 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.25% ส่งผลให้การค้าไทยเกินดุล 1,592 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี การส่งออกไตรมาส 1 ของปี 2563 (มกราคม-มีนาคม) ไทยมีการส่งออกขยายตัว 0.91% มีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 62,672 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 58,738 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 1.92% ส่งผลให้การค้าไทยในไตรมาสแรกเกินดุลอยู่ที่ 3,934 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 1.1% สินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ผัก ผลไม้สด แช่เย็นและแปรรูป ไก่สดแช่เย็นและแปรรูป อารหารสัตว์เลี้ยง ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น ยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้ ไตรมาส 1 ของปี สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกร หดตัว 3.4%

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 6.4% สินค้าที่ยังขยายตัวดี เช่น ทองคำ อากาศยาน ยานอวกาศและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ

สินค้าที่ส่งออกหดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัว 17.4% หดตัวแทบทุกตลาด อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ส่งผลไตรมาส 1 ของปี สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 1.9% อย่างไรก็ดี สำหรับการส่งออกสินค้าในช่วงปัญหาโควิด-19 นั้น ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป อาหาร มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ทำให้การนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปัญหาสงครามการค้ามีสัญญาณที่ดีทำให้การส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัว

ติดตามนโยบายภายในของต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังต้องติดตามการผ่อนคลายนโยบายภายในของแต่ละประเทศ เช่น ยุโรป จากปัญหาโควิด-19 จะส่งผลให้บรรยากาษการค้าโดยรวมกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น และจะมีผลต่อการส่งออก นอกจากนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกไทย โดยเฉพาะเรื่องของค่าเงินบาทที่ยังคงอ่อนค่า จะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าที่อ่อนไหวได้ราคาสูงขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลก จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเชิงรุกผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมทั้งหาช่องทางการจำหน่ายสินค้า จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ทางธุรกิจ เพื่อสนับสนุนในการส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศด้วย

ส่วนทิศทางการส่งออก หากจะให้การส่งออกของไทยทั้งปี 2563 ต้องการให้ขยายตัวอยู่ที่ 0% ไทยต้องส่งออกเฉลี่ยต่อเดือน 20,598 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือหากต้องการให้โต 2% ไทยต้องส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ การหดตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลกในขณะนี้ ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามสำหรับการส่งออกของไทย โดยสมมุติฐานปัจจัยราคาน้ำมันอาจจะต้องปรับคาดการณ์ โดยประเมินว่าปีนี้จะลดลงมาอยู่ที่ 30-40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมที่เฉลี่ย 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล


แต่ทั้งนี้ แม้ราคาน้ำมันที่ลดลงมาจะยังไม่เห็นผลในทันที แต่ยอมรับว่ามีผลต่อการส่งออกเยอะโดยเฉพาะในสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน เช่น น้ำมัน เม็ดพลาสติกส์ เป็นต้น แต่หากมองปัจจัยบวก ทำให้ราคาค่าโดยสาร ราคาน้ำมันภายในประเทศลดลง