นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ เลขาธิการสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมสินค้าไลฟ์สไตล์ภายใต้สมาพันธ์ครอบคลุม 6 สมาคมเกี่ยวกับสินค้าของตกแต่งบ้าน ของขวัญ ของชำร่วย เครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงานสินค้า ของเล่น ผลิตภัณฑ์แม่และเด็ก และหัตถกรรม ต่างได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ยอดขายลดลงประมาณ 70% หรือ 83,000 ล้านบาท จากมูลค่ารวม 1.1-1.2 แสนล้านบาท เนื่องจากสินค้านี้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ผู้บริโภคจะลดการจับจ่ายก่อนเป็นอันดับแรก โดยในกลุ่มนี้ไม่นับรวมความเสียหายของกลุ่ม promotional product ซึ่งมีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทที่กระทบจากการงดจัดกิจกรรมอีเวนต์ต่าง ๆ แต่หากสถานการณ์คลี่คลายในเดือน มิ.ย.ยอดขายจะหดตัวลดลงเหลือเพียง 30-40% หรือ 35,700 ล้านบาท
“ตอนนี้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบรุนแรงกลุ่มแรกมี 20% จากจำนวนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม 8,000 ราย อีก 30% ยังไหว ส่วนอีก 50% ยังไม่รู้อนาคตว่าจะเป็นอย่างไร ภาพรวมในอุตสาหกรรมครอบคลุมแรงงานในทั้งห่วงโซ่อุปทานกว่า 5 แสนคนความช่วยเหลือจากภาครัฐจะช่วยได้ ขึ้นอยู่กับว่าเอกชนจะสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะวงเงินซอฟต์โลนเราหวังว่าจะได้รับการช่วยเหลือ 1,500-2,000 ล้านบาทเพื่อต่อสายป่านให้เอกชน หากปล่อยให้อุตสาหกรรมนี้ล้มหายไปกว่านี้จะฟื้นฟูและเรียกความเชื่อมั่นคืนมาต้องใช้ระยะเวลานาน”
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งภาคเอกชนได้ปรับตัว โดยปรับไลน์ผลิตจากสินค้าฟุ่มเฟือยของขวัญไปเป็นสินค้ากลุ่มที่จำเป็นในช่วงวิกฤตโควิด เช่น เจลล้างมือ หรือหน้ากากอนามัย ซึ่งมีประมาณ 20% ของผู้ประกอบการทั้งหมด ขณะเดียวกันทางสมาพันธ์ประสานไปที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้สนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกออนไลน์เสมือนจริง (vitual exhibiton online) ซึ่งจะทำคู่ขนานกับการจัดงานก็ได้ หรือทำเสมือนเกมออนไลน์ก็ได้ โดยจะมีการลงทะเบียนผู้เข้าร่วมแฟร์ กำหนดจุดแบนด์วิดท์ที่จะใช้ มีการใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และมีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจเหมือนจริงทั้งหมด เพียงแต่ผู้ซื้อไม่ได้เห็นสินค้าจริงเท่านั้น
“ทางสมาพันธ์ได้นำร่องงานแฟร์นี้ไปเมื่อปีก่อนร่วมกับบริษัท ทรูฮิต ซึ่งเป็นผู้จัดทำแพลตฟอร์มจัดกิจกรรมแสดงสินค้าออนไลน์เสมือนจริง โดยดึงโมเดลมาจากงานที่สหรัฐ ทางบริษัทพัฒนาแพลตฟอร์ม ส่วนสมาพันธ์จัดทำ content เราเห็นว่าทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศก็พยายามทำ เขามีเว็บไซต์ Thaitrade.com ซึ่งมีการให้ข้อมูลเอกชน แต่ยังไม่ได้พัฒนาเต็มรูปแบบ หากร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มนี้จะลงทุนเพียงครั้งเดียว ใช้งบประมาณหลัก 30-40 ล้านบาท แต่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทุกงานแฟร์”