3 ไฟฟ้าเฉือนกำไรแสนล้าน บีบอุ้มธุรกิจ-ค่าไฟฟรี

กกพ.เคาะหลักการให้ 3 การไฟฟ้าร่วมรับภาระช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งบ้าน-ธุรกิจเล็ก-กลาง-ใหญ่รวมกันกว่า 112,732 ล้านบาท แต่ต้องไม่กระทบเงินสด-สภาพคล่อง ด้าน กฟน.รับกระทบรายได้ปีนี้ วิ่งหาวงเงินชดเชย เปิดกำไรสุทธิ 3 การไฟฟ้าล่าสุด ยอมขาดทุนกำไรก้อนมโหฬาร ที่ต้องใช้อุ้มค่าไฟฟ้าภาคธุรกิจ-โรงงาน-ประชาชนที่ได้รับผลกระทบวิกฤตโควิด-19

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง โดยผู้ได้รับผลกระทบมีตั้งแต่ประชาชนทั่วไป จนกระทั่งถึงการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในประเทศ โดยหนึ่งในมาตรการที่รัฐบาลสามารถบรรเทาผลกระทบได้ก็คือ มาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า โดยรัฐบาลได้ให้การช่วยเหลือมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ตั้งแต่การลดค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า 3% (รอบบิลเมษายน-มิถุนายน) การขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้า 6 เดือน การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า การขยายฐานการให้ใช้ไฟฟ้าฟรี ไปจนกระทั่งถึงการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าระหว่าง 50-70% จากการใช้ไฟฟ้าเกินไปกว่าค่าไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

อย่างไรก็ตาม มาตรการบรรเทาผลกระทบทางด้านค่าไฟฟ้าเหล่านี้ยังไม่เพียงพอต่อข้อเรียกร้องของภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ล่าสุดได้มีข้อเสนอให้ “ยกเว้น” การเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (minimum charge) ต่อจากเดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนธันวาคม 2563 ที่ใช้กับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง ประเภทที่ 4 กิจการขนาดใหญ่ ประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง ประเภทที่ 6 องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และประเภทที่ 7 สูบน้ำเพื่อการเกษตร รวมไปถึงการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า

ผลจากการบังคับใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบทั้งที่อนุมัติไปแล้วและที่กำลังขออนุมัติเป็นการเพิ่มเติมนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไฟฟ้า ทั้งการไฟฟ้านครหลวง (MEA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในแง่ของการจัดเก็บ “รายได้” ในปี 2563 ที่จะต้องลดลงท่ามกลางข้อถกเถียงที่ว่า “ใคร” จะเป็นผู้รับภาระอันเนื่องมาจากมาตรการบรรเทาความเดือนร้อนของรัฐบาลในครั้งนี้

รง.ขอเว้นจ่ายค่าไฟขั้นต่ำ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานในระหว่างการประชุมร่วมระหว่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) 3 การไฟฟ้า ในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้ยื่นข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้า อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบายไวรัสโควิด-19 เป็นการเพิ่มเติมอีก 2 มาตรการ คือ 1) ขอ “ยกเว้น” การเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (minimum charge) ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทขนาดกลาง-ขนาดใหญ่ และอื่น ๆ ที่จะสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน ต่อไปจนถึงเดือนธันวาคม 2563 กับ 2) การขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า นอกเหนือไปจากที่ให้คืนไปแล้วกับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านพักอาศัย และกิจการขนาดเล็ก ซึ่งจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก่อน

ทั้งนี้ การใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดกลางและขนาดใหญ่จะเรียกเก็บค่าไฟฟ้าต่ำสุดต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา สิ้นสุดในเดือนปัจจุบัน หรือที่เรียกกันว่า minimum charge แต่จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน บวกกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าของผู้ประกอบการ “ต่ำกว่า” minimum charge ที่เรียกเก็บในอัตราขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่เรียกร้องขอจ่ายค่าพลังงานไฟฟ้า “ตามจริง” โดยผู้ประกอบการขนาดกลาง ณ เดือนมิถุนายน มีจำนวน 105,526 ราย, ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ 9,530 ราย, ผู้ประกอบกิจการเฉพาะอย่าง 17,671 ราย, องค์กรไม่แสวงหากำไร 1,400 ราย และการสูบน้ำเพื่อการเกษตรอีก 6,075 ราย

“ส่วนข้อเรียกร้องในเรื่องของการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้านั้น เป็นการขอเพิ่มเติมหลังจากที่ ครม.มีมติให้คืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านพักอาศัย กับประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็กไปแล้ว ซึ่งล่าสุดทั้ง กฟน.-กฟภ.มีการจ่ายเงินคืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้าไปแล้ว รวม 6,125 ล้านบาท”

ล่าสุดการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ได้ประมาณการการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 2/3/4 จำนวน 19.30 ล้านราย คิดเป็นจำนวนเงิน 50,183 ล้านบาท ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้ประมาณการการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าจำนวน 27,381 ราย จำนวนเงิน 11,315 ล้านบาทโดยเป็นการคืนเงินทั้งเงินสด-พันธบัตรรัฐบาล/รัฐวิสาหกิจ และหนังสือค้ำประกันของธนาคารภายในประเทศ

ต้องชดเชย Ft หมื่น ล.

นอกเหนือจากมาตรการที่ภาคเอกชนขอเป็นการ “เพิ่มเติม” แล้ว ก่อนหน้านี้ รัฐบาลยังกำหนดเงินบรรเทาผลกระทบจากอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่า Ft กรณีการตรึงค่า Ft ไว้ที่ -11.60 สตางค์ จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 หักออกจากมาตรการบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เป็นการเพิ่มเติมระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 หรือมาตรการใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 150 หน่วย กับมาตรการลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 50-70 ตามฐานการใช้ไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (มติ ครม.วันที่ 21 เมษายน 2563) คิดเป็นวงเงิน 23,668 ล้านบาทนั้น เมื่อหักมาตรการบรรเทาผลกระทบออกแล้ว ยังมียอดเงินค่าตรึง Ft ที่ต้องขอเงินสนับสนุนอยู่อีก 11,175 ล้านบาทและเมื่อรวมมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบไวรัสโควิด-19 ทั้งที่รัฐบาลอนุมัติแล้ว และข้อเสนอภาคเอกชนที่รอการอนุมัติจาก กกพ. จะทำให้ “รายได้” ของ 2 การไฟฟ้าหายไปไม่น้อยกว่า 112,732 ล้านบาท

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เฉพาะมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย จำนวน 22 ล้านราย วงเงิน 23,668 ล้านบาทนั้น จะให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาภายใต้กรอบที่สามารถบริหารจัดการได้

ให้ 3 การไฟฟ้าร่วมรับภาระ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวภายหลังจากการหารือกับ 3 การไฟฟ้าเพื่อพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในส่วนของรายได้ของการไฟฟ้าที่จะลดลงนั้น “ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน” แต่หลักการที่สามารถดำเนินการได้ก็คือ ให้ทั้ง 3 กิจการไฟฟ้าคือ กฟผ.-กฟน.-กฟภ.ร่วมกันเป็นผู้รับภาระ ด้วยการนำรายได้ “ส่วนเกิน” ของทั้ง 3 การไฟฟ้ามาช่วยแบ่งเบาความเดือดร้อน หรืออาจจะใช้การเฉลี่ยจ่ายผ่านการจ่ายชดเชยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เนื่องจากต้องดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศกว่า 70 จังหวัด

“ตอนนี้มีบางตัวเลขที่ต้องให้ กฟผ.ไปปรับปรุงให้ชัดเจนขึ้น รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือมาตรการด้านการพลังงานที่จะช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19”

กระทบรายได้ กฟน.

นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (MEA) กล่าวว่า จากมาตรการช่วยเหลือผุู้ใช้ไฟฟ้าที่ออกมานั้น ยอมรับว่า “จะกระทบต่อรายได้ของ กฟน. แต่ยังไม่สรุปว่าจะกระทบเป็นจำนวนเท่าไร เรากำลังประเมินอยู่” ซึ่ง กฟน.อยู่ระหว่างพิจารณาจะนำเงินส่วนไหนมาชดเชย โดยรายได้และกำไรแต่ละปีของ กฟน.จะต้องนำส่งคืนให้กระทรวงการคลัง ประมาณ 40-45% และที่เหลือจะนำมาลงทุนก่อสร้างและพัฒนาโครงการต่าง ๆ โดยในปี 2563 ตั้งกรอบวงเงินลงทุนไว้ 23,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันยังใช้จ่ายไม่เต็มวงเงิน

ขณะที่ นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง และในฐานะโฆษก กล่าวว่า กฟน.ซึ่งรับผิดชอบระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลดำเนินมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า คิดเป็นวงเงินกว่า 22,587 ล้านบาท ได้แก่ มาตรการลดค่าไฟฟ้าทุกประเภท 3% 3 เดือน ตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. กว่า 3.9 ล้านรายวงเงิน 1,600 ล้านบาท มาตรการขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้า 6 เดือน ให้กับกิจการประเภทโรงแรม กิจการให้เช่าอาศัยกว่า 3,400 ราย วงเงินกว่า 1,400 ล้านบาท มาตรการคืนเงินหลักประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็กกว่า 3.8 ล้านราย วงเงิน 13,580 ล้านบาท มาตรการผ่อนผันการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าอัตราขั้นต่ำกลุ่มกิจการขนาดกลาง-ใหญ่ โรงแรม 29,000 ราย วงเงิน 167 ล้านบาท มาตรการใช้ไฟฟรีไม่เกิน 150 หน่วยวงเงิน 364 ล้านบาท เกิน 150 หน่วย วงเงิน 5,476 ล้านบาท

รอบ 6-9 เดือนกำไร 5 หมื่นล้าน

สำหรับรายได้ของ 3 การไฟฟ้า ล่าสุดที่แจ้งต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินในรอบ 6-9 เดือนของปี 2562 ปรากฏการไฟฟ้านครหลวง รายได้ 9 เดือน (สิ้นสุดกันยายน 2562) อยู่ที่ 157,085,380,013 บาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้า153,804,908,506 บาท มีกำไรสุทธิ 8,405,755,623 บาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาครายได้ 6 เดือน (สิ้นสุด 30 มิ.ย. 2562) อยู่ที่ 263,526,851,965 บาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากการขายไฟฟ้าและบริการ262,652,747,925 บาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 12,740,306,421 บาท และ กฟผ.รายได้ 9 เดือน (สิ้นสุด 30 ก.ย. 2562) อยู่ที่ 426,168,190,035 บาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับ 2 การไฟฟ้า424,037,717,659 บาท กำไรสุทธิ 35,561,520,377 บาท