หอการค้าชี้ไตรมาสแรกค้าปลีกเสียหาย 3-4 แสนล้าน จี้รัฐผ่อนคลาย-เร่งเปิดให้บริการ

แฟ้มภาพ

หอการค้า ยื่นข้อเสนอภาครัฐสนับสนุนเอสเอ็มอีเพิ่มเติมจากมาตรการที่มี ขณะที่ห้างโมเดิร์นเทรดพร้อมให้บริการหากรัฐบาลผ่อนคลายมากขึ้น ส่วนความเชื่อมั่น Modern Trade โดยรวมยังต่ำระดับ 47.2 จากปัญหาของโควิด-19 เป็นหลักมีผลต่อกำลังซื้อ พฤติกรรมผู้บริโภค ชี้ไตรมาสแรกเสียหาย 3-4 แสนล้าน คาดทั้งปีเสียหาย 1 ล้านล้านบาท

นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยได้มีการหารือกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีก ขณะนี้ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์การค้าใหม่รองรับปัญหาที่เกิดขึ้น รวมไปถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปซื้อ-ขายผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ยังส่งผลให้การให้บริการเดลิเวอร์รี่ เติบโตถึง 35% ทั้งนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจและการค้าฟื้นตัวได้เร็ว ผู้ประกอบการมองว่าการผ่อนคลายให้ธุรกิจค้าปลีกเปิดให้บริการ เพราะนอกจากจะทำให้ความเชื่อมั่นโดยรวมดีขึ้นยังทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ นอกจากนี้ ยังต้องการให้ภาครัฐพิจารณาการเข้าถึงเงินทุน สินเชื้อดอกเบี้ยต่ำให้เอสเอ็มอีเพิ่มเติมจากมาตรการรัฐที่มี

สุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

อีกทั้ง มาตรการให้ผู้ประกอบการจ้างแรงงานรายชั่วโมง เปิดเจรจากับประเทศจีนในการควบคุมการแพร่เชื้อหากจะเปิดให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในช่วงปลายปี อย่างไรก็ดี หากจะดำเนินการแล้วเอกชนให้ความมั่นใจว่าการดูแลและควบคุมการให้บริการ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อหรือการกระจายเชื้อนั้น เอกชนดำเนินการเต็มที่และหากมีการเปิดให้บริการ 3 พฤษภาคม 2563 นี้ ก็พร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที และหากเกิดการแพร่เชื้อเอกชนก็พร้อมให้ความร่วมมือในการปิดการให้บริการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเช่นกัน ขณะที่ ปัญหาการขยายเวลาเคอร์ฟิวนั้น เป็นการควบคุมและดูแลที่ดีแต่ปัจจุบันถือว่าประเทศไทยควบคุมสถานการณ์ได้เต็มที่ทำให้การแพร่เชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง หากสามารถปรับลดเวลาได้จะเป็นเรื่องดี เพราะพนักงานส่วนใหญ่ก็ยังทำงานอยู่

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Modern Trade ประจำไตรมาส 1 ปี 2563 จากกลุ่มตัวอย่าง 105 ตัวอย่างพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ที่ระดับ 47.2 ซึ่งปรับลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ทุกรายการ ทั้งปัจจุบันและอนาคตในเรื่องของรายรับจากการขาย กำไรจากการขาย จำนวนลูกค้า การจ้างงาน ต้นทุนการดำเนินงาน โดยสะท้อนว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบการไม่มีความมั่นใจในการทำธุรกิจ และเมื่อลงตามภูมิภาคส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีความเชื่อมั่นและอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ในทุกภาคเช่นกัน ส่วนมูลค่าความเสียหายที่กระทบต่อภาค Modern Trade มูลค่าความเสียหายก็สูง แต่เบื้องต้นยังไม่ได้ประเมินเฉพาะกลุ่ม แต่หากโดยรวมธุรกิจแล้วมูลค่าที่หายไป 1 ล้านล้านบาททั้งปี เฉพาะไตรมาส 1 มูลค่า 3-4 แสนล้านบาท

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ทั้งนี้ เมื่อสำรวจถึงสถานการณ์ของธุรกิจ Modern Trade ส่วนใหญ่แล้วรายได้ผลกำไร ยังมองว่าไม่เปลี่ยนแปลง รวมไปถึงจำนวนลูกค้า ขณะที่ แนวโน้มผู้ประกอบการมีการลงทุนด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์ นวัตกรรมเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกับพฤติกรรมการบริโภคสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไป และคาดว่าในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563 ก็จะยังคงมีสถานการณ์ใกล้เคียงไตรมาส 1 ส่วนการสำรวจถึงทัศนะในด้านต้นทุนการดำเนินการ ส่วนใหญ่ลงทุนเท่าเดิมเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ทัศนะต่อสินค้าคงเหลือจากการขาย เทียบกับเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย พร้อมกันนี้กลุ่มธุรกิจที่มีการขายออนไลน์ รายรับจากช่องทางดังกล่าวส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าของธุรกิจ โดยรวมแย่ลงส่งผลให้สินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น ส่วนยอดสั่งซื้อที่เพิ่มส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มออนไลน์

นอกจากนี้ เมื่อลงรายละเอียดถึงผลกระทบที่ได้รับต่อการประกอบธุรกิจ ยังคงเป็นเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการสั่งปิดห้างสรรพสินค้า ประชาชนอยู่บ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อ การบริหารจัดการที่มีข้อจำกัด เนื่องจากการสั่งปิดกิจการ สภาพคล่องทางการเงิน ผู้ค้าออนไลน์เถื่อนจำหน่ายสินค้าตัดราคา ปัญหากำลังซื้อหดตัว เป็นต้น ดังนั้น ข้อเสนอแนะที่ต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้ไข เช่น มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด และการฟื้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น ระยะยาว มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอย่างเร่งด่วน 1-3 เดือน เร่งแก้ไขปัญหาการว่างงาน มาตรการผ่อนคลายการเปิดกิจการ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เมื่อดูปัจจัยโดยรวมที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ Modern Trade ปัจจัยบวก เช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ต่อปี มาตรการดูแลและเยียวผลกระทบจากโควิด-19 มาตรการกระตุ้นอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง ขณะที่ ปัจจัยลบที่กระทบ เช่น การแพร่ระบาดโควิด-19 การประกาศ พรก.ฉุกเฉิน มาตรการยกเลิกวีซ่า 18 ประเทศ การยกเลิกเที่ยวบิน สถานการณ์ภัยแล้ง การส่งออกหดตัว ราคาสินค้าเกษตรยังคงอยู่ในระดับไม่สูง ภาระหนี้สินครัวเรือน ความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจลดลง เป็นต้น