เครือข่ายแบนสารพิษฯ บุกกระทรวงอุตสาหกรรม ค้านยืดเวลาแบน3สารถึงสิ้นปี

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง กล่าวว่า วันนี้ (28 เม.ย. 2563) ได้เข้ายื่นหนังสือถึง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อให้คณะกรรมการฯ ยึดตามมติเดิมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่จะยกเลิกการใช้ 2 สารเคมี คือ คลอร์ไพริฟอสและไกลโฟเซต ในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 นี้

โดยทางเครือข่ายฯ ขอคัดค้าน ความเห็นของนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าไทย ที่เสนอให้ขยายระยะเวลาการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ออกไปเป็นปลายปี 2563 หรือจนกว่าสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าจะสิ้นสุดลง เพราะกังวลเรื่องการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกแบนพาราควอตมากกว่าทศวรรษ

โดยล่าสุด สหภาพยุโรปได้ประกาศแบนคลอไพริฟอส มาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 และเวียดนาม แบนพาราควอตมาตั้งแต่ 2560 และแบนคลอร์ไพริฟอสมาตั้งแต่ต้นปี 2562 ซึ่งไม่มีประเทศใดบ้างปัญหาการตกค้างจนส่งผลกระทบต่อการผลิตและอุตสาหกรรมใดเลย

และไม่เห็นด้วยกับการออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนใบอนุญาตผลิตวัตถุอันตราย และการต่ออายุวัตถุอันตรายเพิ่มเติม เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชน สามารถนำเข้าวัตถุอันตรายเข้ามาอีก ทำให้สต๊อกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชคงค้างเดิมไม่ลดลง และขัดกับมติ รวมถึงเจตนาของการแบนสารเคมี ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชน โดยปราศจากเหตุผลที่ชอบทำรองรับ

ดังนั้นควรยึดมติเดิม เพื่อให้เอกชนจำหน่ายสต๊อกเดิม โดยรัฐบาลไม่ต้องเสียค่าทำลายสารเคมี และเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการออกประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายและออกมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามมติเดิม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นมติโดยชอบด้วยกฎหมาย

โดยในวันที่ 30 เมษายนนี้ทางเครือข่ายฯจะติดตามการประชุม หากมีมติเป็นอื่นจะยกระดับการเรียกร้องต่อไป

นางสาวรัตนา รักษ์ตระกูล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหหรรม เป็นตัวแทนรับหนังสือแทนนายสุริยะ ระบุว่า การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายฯ ในวันที่ 30 เมษายน จะนำข้อเสนอจากทางกลุ่มของทุกกลุ่มเข้าหารือในที่ประชุม เพื่อหารือข้อสรุปและทางออกในเรื่องนี้ และยอมรับว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรยังไม่ได้ส่งหนังสือการหาสารตัวอื่นมาทดแทนสารเคมีนี้ให้กับคณะกรรมการ