จับตามติคณะกรรมการวัตถุอันตรายพรุ่งนี้ หวั่นกระทบอุตสาหกรรมอ้อย 3 แสนล้าน

ในวันพรุ่งนี้ (30 เม.ย. 2563) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 2-1/2563 ซึ่งถูกจับมองถึงการยืนมติแบนสารเคมีอันตรายในวันที่ 1 มิ.ย. 2563 นี้หรือไม่

ขณะที่ นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย (สนอท.) เปิดผลการศึกษาล่าสุดในรายงานประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ ว่า หากยกเลิกการใช้สารพาราควอตต่อภาคการเกษตรอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตอ้อย จำเป็นต้องใช้พาราควอตในการควบคุมวัชพืชในระยะแตกกอหรือในช่วง 30-170 วันหลังปลูก

และระยะอ้อยย่างปล้องเป็นจุดวิกฤตที่สุด หากควบคุมวัชพืชไม่ได้ จะทำให้ผลผลิตลดลง 20-50% ส่งผลปริมาณอ้อยเหลือ 67-108 ล้านตัน จากเดิม 134.8 ล้านตัน กระทบเกษตรกรสูญรายได้รวม 58,000 ล้านบาท

อีกทั้งในปีนี้ต้นทุนเกษตรกรชาวไร่อ้อย สูงถึง 1,200-1,300 บาทต่อไร่ ต่างจากฤดูปกติอยู่ที่ 1,110 บาทต่อไร่ ขณะที่ค่าอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 750 บาทต่อไร่ ทำให้ภาครัฐต้องหันมาพิจารณาช่วยเหลือในเรื่องต้นทุนในส่วนของปัจจัยการผลิต อันเป็นแนวทางเดียวที่รัฐจะช่วยได้โดยไม่ขัดกับข้อตกลงองค์กรการค้าโลก (WTO)

ดังนั้น จะเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรชาวไร่อ้อยจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้วจากผลกระทบภัยแล้ง และรายได้จากการส่งออกที่ลดลงจากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หากมีการยกเลิกใช้พาราควอต

ในเบื้องต้น สนอท. คาดการณ์ผลผลิตอ้อยลดลงทันทีครึ่งหนึ่ง หรือ 50% คิดมูลค่าเสียหายสูงถึง 150,000 ล้านบาท และกระทบไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีก 150,000 ล้านบาท รวมสูญเสีย 300,000 ล้านบาท