เอาไงแน่ “แบน” พาราควอต Q1 ยอดนำเข้าวูบ-จี้โรงงานเข้า ISO

Photo by INDRANIL MUKHERJEE / AFP

ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ประชุมเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 เห็นชอบให้มีประกาศที่กำหนดให้ “พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส” เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามนำเข้ามาจำหน่าย แต่มีข้อเสนอให้ขยายระยะเวลาการแบนออกไปอีก 6 เดือน ส่วนสารไกลโฟเซต ให้จำกัดการใช้ จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิ.ย. 2563

ล่าสุดกรมวิชาการเกษตรได้ยกร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ (ฉบับที่…)พ.ศ… ขึ้น และได้ยื่นต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เพื่อนำไปหารือในคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อกำหนดวิธีการควบคุมสถานที่ผลิตวัตถุอันตรายทั้ง 143 โรงงาน ให้ได้การรับรองตามระบบมาตรฐานบริหารคุณภาพในด้านต่าง ๆ

จี้ 143 โรงงานเข้า ISO

แม้ว่าการแบน 3 สารเคมีจะยังอยู่ในภาวะ “ลูกผีลูกคน” แต่ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่าจะเดินหน้าแบนวัตถุอันตรายต่อ โดยล่าสุดได้ทวงถามข้อสรุปวาระการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายจากกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะพิจารณาเรื่องมาตรฐาน ISO จำนวน 3 ฉบับ

ตามที่กระทรวงเกษตรฯเสนอ เพื่อให้บริษัทผู้นำเข้า ผู้ผลิตสารเคมี ตลอดจนร้านจำหน่ายต้องปฏิบัติตามเพื่อคุ้มครองเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

สาระสำคัญของร่างประกาศ กำหนดให้สถานที่ผลิตวัตถุอันตราย (143 โรงงาน) ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานบริหารคุณภาพ ISO 9001, มาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และมีห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ด้านการวิเคราะห์วัตถุอันตรายจากสถาบันที่ผ่านมาตรฐานในประเทศไทย ยกเว้นสถานที่ผลิตสารชีวภัณฑ์ และสารสกัดจากพืช (กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน) ส่วนสถานที่ผลิตวัตถุอันตรายที่ได้รับอนุญาตอยู่ก่อนแล้ว ให้เวลาปรับตัว 2 ปี นับจากประกาศมีผลใช้บังคับ

สมาพันธ์เกษตรฯยึดมติเดิม

นายสุกรรจ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ขอให้ “ยึด” มติคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 23 พ.ค. 2561 ที่ให้จำกัดการใช้ 3 สารเคมีอันตราย คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ฉบับ เพื่อให้จำกัดการใช้ ซึ่งยังไม่คืบหน้า

ด้านนายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้รับทราบเรื่องจากกรมวิชาการเกษตรแล้ว เตรียมจะนำเรื่องหลักเกณฑ์ดังกล่าวเข้าสู่วาระพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในเดือน พ.ค.นี้

อบรมเกษตรกรอืด

อีกด้านหนึ่ง ปัญหาการออกประกาศกำหนดให้เกษตรกรผู้ใช้ที่ล่าสุดมีผู้ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสำปะหลัง มาลงทะเบียน 600,000 ราย จากทั้งหมด 1.7 ล้านราย แต่มีเกษตรกรมาอบรมเพียงประมาณ 300,000 ราย ซึ่งกลุ่มนี้จะมีหนังสือรับรองหรือใบเขียว

สำหรับไปสำแดงเพื่อซื้อสารเคมีเกษตร ทั้งที่ควรอบรมทั้งหมด ขณะที่การขึ้นทะเบียนร้านค้าสารเคมี ก็ “ยังไม่เรียบร้อย”

กรมวิชาการเกษตรจะตรวจเข้มข้นขึ้น


อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ข้อมูลกรมศุลกากร ระบุว่า ไตรมาส 1/2563 ไทยนำเข้าสารเคมี ปริมาณ 27,432 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และไม่มีการนำเข้าสารเคมี 3 ชนิดแล้ว (ตามกราฟิก) แต่มีการนำเข้าสารทดแทนสะท้อนว่าภาคธุรกิจเริ่มปรับตัวรอแล้ว