ไทยใช้สิทธิ FTA และ GSP ช่วง 2 เดือนแรกปี 2563 พุ่ง 10,321.56 ล้านเหรียญสหรัฐ

ภาพ Pixabay

กรมการค้าต่างประเทศเผยภาพรวมการใช้สิทธิ FTA และ GSP ช่วง 2 เดือนปี 2563 มีมูลค่า 10,321.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อาเซียนยังครองแชมป์การใช้สิทธิ FTA ด้าน GSP สหรัฐฯ ยังเป็นอันดับหนึ่ง แนะผู้ส่งออกใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี 13 ฉบับ ดันส่งออก

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 โดยมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมเท่ากับ 10,321.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ฯ 72.98% การใช้สิทธิฯ สองเดือนแรกของปี 2563 ลดลง 11.00% โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 9,490.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 830.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 11 ฉบับ (ไม่รวมอาเซียน-ฮ่องกง เนื่องจากภาษีนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่เป็น 0% อยู่แล้ว ก่อนที่จะมีความตกลงฯ และไทย-นิวซีแลนด์ ที่ใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของผู้ส่งออก) มีมูลค่า 9,490.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 11.93% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 72.56% โดยตลาดที่ไทยส่งออกมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อาเซียน (มูลค่า 3,657.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ น้ำตาลที่ได้จากอ้อย เครื่องปรับอากาศที่ใช้ติดหน้าต่าง ผนัง เพดาน หรือพื้นที่มีส่วนประกอบสมบูรณ์ในตัว รถยนต์เพื่อขนส่งบุคคล ความจุกระบอกสูบ 1,500-2,500 ลบ.ซม. 2) จีน (มูลค่า 2,210.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ผลไม้อื่นๆ เช่น ลำไย เงาะ ลางสาด กระปุกเกียร์และส่วนประกอบ 3) ออสเตรเลีย (มูลค่า 1,193.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง

อาทิ ยานยนต์สำหรับขนส่งของแบบลูกสูบที่จุดระเบิดโดยการอัด รถยนต์ส่วนบุคคลความจุกระบอกสูบ 1,000-1,500 ลบ.ซม. เครื่องปรับอากาศติดผนัง 4) ญี่ปุ่น (มูลค่า 1,174.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ไก่ชนิดแกลลัสโดเมสติกัส เนื้อและส่วนอื่นที่บริโภคได้ของสัตว์ปีกแบบแช่แข็ง ของอื่นๆ ด้วยพลาสติก และ 5) อินเดีย (มูลค่า 715.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ลวดทองแดงอื่นๆ แทรกเตอร์ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-ชิลี (100%) 2) ไทย-เปรู (97.10%) 3) ไทย-ญี่ปุ่น (89.46) 4) อาเซียน-เกาหลี (81.92%) และ 5) ไทย-ออสเตรเลีย (77.64%)

สำหรับการส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA ไปบางตลาดยังคงลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะ จีน (ลดลง 18.27%) ญี่ปุ่น (ลดลง 16.58%) อาเซียน (ลดลง 8.87%) เกาหลี (ลดลง 6.95%) อย่างไรก็ดี ยังมีบางตลาดที่มีการขยายตัวของการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อาทิ อาเซียน-นิวซีแลนด์ (ขยายตัว 28.75%) อินเดีย (ขยายตัว 2.71%) เปรู (ขยายตัว 1.13%)

ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 ไทยได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP จำนวน 4 ระบบ คือ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ โดยมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สองเดือนแรกของปี 2563 เท่ากับ 830.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 1.19% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 78.11% ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา โดยมูลค่าการใช้สิทธิฯ เท่ากับ 761.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 1.57% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 81.84% อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ เท่ากับ 40.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 4.77% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 40.92% อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ เท่ากับ 24.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 2.15% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 84.78% และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ เท่ากับ 3.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 17.59% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 81.19%

 

สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ถุงมือยาง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ อาหารปรุงแต่งอื่นๆ หม้อแปลงไฟฟ้าอื่นๆ รถจักรยานยนต์มีเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบความจุกระบอกสูบเกิน 800 ลบ.ซม.

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่แทรกแซงเศรษฐกิจโลกและการค้าระหว่างประเทศในช่วงสองเดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์) ของปี 2563 มาจากการระบาดใหญ่ (Pandemic) ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเริ่มระบาดจากประเทศจีนที่เป็นศูนย์กลางการผลิตสำคัญของโลก ส่งผลให้ภาคการผลิตในประเทศจีนหยุดชะงักชั่วคราวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ สะเทือนถึงประเทศต่างๆ ที่พึ่งพาจีนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานสำคัญของภาคการผลิต และกระทบเศรษฐกิจ การค้า รวมถึงการท่องเที่ยวในวงกว้าง ซึ่งยังคงกดดันเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะมีแนวโน้มดำเนินไปในระยะยาว แต่ไทยยังมีโอกาสและแต้มต่อในการส่งออกสินค้าไปประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงทางการค้าเสรี (Free Trade Agreement) โดยสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีรวม 13 ฉบับ เพื่อลดภาระด้านต้นทุนทางภาษีโดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่าหลายสินค้าโดยเฉพาะสินค้าประเภทเกษตร/อาหารแปรรูป มีการส่งออกโดยใช้สิทธิฯ เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น อาเซียน (AFTA) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีอัตราการเติบโตขยายตัว อาทิ น้ำตาลที่ได้จากอ้อย (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 178.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 38.29%) เครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ที่ไม่เติมแก๊ส เช่น นม UHT นมถั่วเหลือง (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 85.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 127.24%) ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส ของผสมที่ใช้ปรุงรส และของผสมที่ใช้ชูรสอื่นๆ (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 27.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 20.05%) เป็นต้น

อาเซียน-เกาหลี (AKFTA) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีอัตราการเติบโตขยายตัว อาทิ ฝรั่ง มะม่วง มังคุด (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 6.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 9.60%) ข้าวโพดหวาน (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 4.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 10.56%) อาหารปรุงแต่งอื่นๆ เช่น สิ่งสกัด หัวเชื้อและสิ่งเข้มข้นของกาแฟ ชา (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 4.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 11.12%) เป็นต้น อาเซียน-จีน (ACFTA) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีอัตราการเติบโตขยายตัว อาทิ ผลไม้อื่นๆ เช่น ลำไย เงาะ ลางสาด (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 128.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 38.81%) มันสำปะหลัง (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 106.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 1.16%) ชิ้นเนื้อและเครื่องในไก่แช่แข็ง (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 45.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 48.51%) เป็นต้น ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีอัตราการเติบโตขยายตัว อาทิ ซอสปรุงแต่ง (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 7.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 21.14%) เต้าหู้ปรุงแต่ง (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 6.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 22.62%) อาหารปรุงแต่งทำจากธัญพืช (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 5.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 41.38%) เป็นต้น

สำหรับในปี 2563 นี้ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) มีการลดภาษีเพิ่มเติม ออสเตรเลียลดเพิ่ม 215 รายการ ส่วนนิวซีแลนด์ลดเพิ่ม 240 รายการ ดังนั้น ภาษีนำเข้าทั้งหมดภายใต้ความตกลง AANZFTA ของทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จึงลดลงเหลือ 0% ในทุกรายการสินค้า ซึ่งเมื่อพิจารณารายสินค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้ายานยนต์ซึ่งเป็นสินค้าศักยภาพของไทยในตลาดออสเตรเลียพบว่า สองเดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-กุมภาพันธ์) เริ่มมีการใช้สิทธิฯ ส่งออกรถยนต์ประเภทต่างๆ จากการเปิดตลาดของออสเตรเลียภายใต้ความตกลง AANZFTA มากขึ้น

โดยได้ปรับลดอัตราภาษีปกติจากเดิม 5% เป็น 0% ทำให้เริ่มมีการใช้ประโยชน์จากความตกลงดังกล่าว จากที่ไม่มีการใช้สิทธิฯ ในปีก่อนหน้า ยกตัวอย่างสินค้าเช่น รถยนต์ส่วนบุคคล ความจุกระบอกสูบ 1,500-3,000 ลบ.ซม. (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 39.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) รถยนต์ส่วนบุคคล ความจุกระบอกสูบ 1,500-2,500 ลบ.ซม. (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 15.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) รถยนต์ส่วนบุคคล ความจุกระบอกสูบเกิน 2,500 ลบ.ซม. (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 5.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิฯ ยกเว้นภาษีในกลุ่มสินค้ายานยนต์ภายใต้ความตกลง AANZFTA ได้เช่นเดียวกับความตกลงไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) แต่ความตกลง AANZFTA กำหนดเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับสินค้ายานยนต์ที่เข้มงวดน้อยกว่า ผู้ประกอบการจึงมีทางเลือกในการใช้สิทธิฯ ที่ง่ายขึ้น