รถยนต์ร้อง”สุริยะ”ช่วยด้วย โควิดทำพิษขอแพ็กเกจรถเก่าแลกรถใหม่

AFP PHOTO/TOYOTA FACTORY

พิษโควิดฉุดยอดขายรถวูบ 40% กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.เตรียมระดมข้อเสนอขอรัฐช่วยจ่ายชดเชยส่วนต่างอุ้มค่ายรถอัดโปรโมชั่นรถเก่าเทิร์นซื้อรถใหม่กระตุ้นตลาด พร้อมขอบีโอไอเพิ่มมาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมลงทุน ปรับปรุงประสิทธิภาพ หวังกู้ยอดขายรถในประเทศฟื้นทันไตรมาส 4 อุ้มแรงงาน 750,000 คนไม่ตกงาน “สุริยะ” รับลูกเตรียมถกมาตรการอุ้มค่ายรถ

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ส่อแววทรุดหนักมาตั้งแต่ต้นปี 2563 บวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งส่งผลให้เดือน มี.ค. 2563 ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ เหลือเพียง 60,105 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 41.74% และยังประเมินอีกว่าหากเชื้อไวรัสยังยืดเยื้อไปถึงเดือน ก.ย. ยอดขายรถในประเทศทั้งปี 2563 น่าจะเหลือเพียง 500,000 คันเท่านั้น จากเป้า 1,000,000 คัน และยังส่งผลต่อผู้ผลิตชิ้นส่วน โชว์รูม ศูนย์บริการ ที่อาจต้องเลิกจ้างพนักงาน ช่าง ชั่วคราวกว่า 750,000 คน

ในเบื้องต้นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.เตรียมหารือกับสมาชิกค่ายรถ เพื่อหามาตรการกระตุ้นการลงทุน การผลิต และยอดขาย โดยจะเสนอต่อทางภาครัฐให้เข้ามาช่วยสนับสนุน เช่น แนวคิดการให้รัฐสนับสนุนเงินส่วนต่างจำนวนหนึ่งสำหรับรถเก่าที่นำไปเทิร์นเพื่อซื้อรถใหม่ ซึ่งจะไม่เพียงกระตุ้นทั้งยอดขาย แต่ยังช่วยลดปัญหามลพิษ PM 2.5 ลงไปด้วย เช่นเดียวกับที่สหรัฐและเยอรมนีเคยใช้เมื่อตอนฟื้นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งไทยก็ควรใช้โมเดลนี้เช่นกัน

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อาจไม่มีมาตรการโดยตรง แต่สามารถดึงมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ หรือทบทวนมาตรการกระตุ้นเพื่อให้เกิดการลงทุนเร็วขึ้น แม้จะยังไม่ใช่จังหวะนี้ แต่จำเป็นต้องคิดเตรียมไว้หลังจบวิกฤตโควิดนี้ เพื่อเป็นส่วนในการช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนได้ ทั้งนี้ หากรัฐสามารถออกมาตรการช่วยกระตุ้นยอดขายได้จริง หลังจบโควิดที่คาดว่าช่วงเดือน ก.ย. บวกกับค่ายรถทำโปรโมชั่น อาจทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ฟื้นตัวได้ช่วงไตรมาส 4

“สิ่งสำคัญคือ รัฐควรใช้อำนาจเข้ามาดูแลว่าจะฟื้นเศรษฐกิจ ฟื้นความเชื่อมั่น การค้าการขาย ฟื้นการผลิตได้อย่างไร ไม่ใช่แค่ฟื้นผลิตรถยนต์ แต่ต้องฟื้นสินค้าทุกตัวให้ได้ มีการจ้างงานเพิ่ม เมื่อคนฟื้นมีเงินก็มีกำลังซื้อ ตอนนี้รัฐเยียวยาและให้เงินชดเชยอยู่ ก็เป็นมาตรการหนึ่งที่ระยะสั้นช่วงที่กำลังเกิดโควิด แต่หลังจากนี้จะทำอย่างไร”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้รัฐใช้วิธีกระตุ้นยอดขายด้วยการออกมาตรการรถคันแรก ซึ่งนั่นเป็นในส่วนของ กระทรวงการคลัง และในส่วนของบีโอไอเคยใช้มาตรการฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัยปี 2554 ซึ่งขณะนั้นเครื่องจักรในแต่ละโรงงานได้รับความเสียหายมาก โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมหนัก เช่น ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา จึงจำกัดมาตรการให้เป็นบางพื้นที่ ส่วนวิกฤตครั้งนี้แม้จะเป็นคนละลักษณะ แต่นักลงทุนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ ต้องหยุดการผลิตแต่เครื่องจักรไม่ได้เสียหายเขายังผลิตต่อได้ ดังนั้น หากจะมีมาตรการออกมาช่วยบีโอไอต้องใช้เวลาพิจารณาให้รอบด้าน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า ขณะนี้ได้รับทราบและรับข้อเสนอจากภาคเอกชนมาแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกับค่ายรถไปแล้วบางส่วน ดังนั้น ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือกันในขั้นแรก

“อย่างไรก็ตาม ตนได้รับข้อเสนอมาแล้วและกำลังอยู่ในขั้นตอนการวางแผนทำมาตรการตามที่เอกชนร้องขอ กำลังพิจารณาว่าจะทำได้หรือทำไม่ได้ เพื่อจะทำให้ออกมาเป็นรูปธรรมต่อไป”

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะที่ปรึกษาบริหารอาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัดกล่าวว่า ในส่วนของโตโยต้าเองได้ดำเนินตามแผนที่เคยประกาศไว้ไม่ต่างจากค่ายรถยนต์อื่น ๆ คือ ยังคงหยุดการผลิต และพยายามรักษาพนักงานไว้ รวมถึงจ่ายค่าแรงงานให้ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งขณะนี้ลูกค้าไม่อยู่ในอารมณ์ของการจับจ่ายใช้สอยจึงต้องรอสักระยะหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในเดือน พ.ค.หรือ มิ.ย.นี้ ค่ายรถยนต์จะเริ่มกลับมาผลิตอีกครั้ง ส่วนการกระตุ้นยอดขายจะแตกต่างจากตอนน้ำท่วมใหญ่ที่ใช้เรื่องของรถคันแรก ซึ่งรอบนี้จึงอยู่ระหว่างการหารือว่าจะใช้วิธีใดมากระตุ้นตลาด