ตัดGSPฟาดหางเอสเอ็มอีอ่วม พาณิชย์ผนึกEXIMBankช่วย

แฟ้มภาพ

พาณิชย์ ผนึก EXIM Bank อุ้มเอสเอ็มอีกลุ่มรับจ้างผลิต หลังถูก USTR ตัดจีเอสพี 573 รายการ มั่นใจหาก กม.แรงงานคืบหน้ายื่นขอทบทวนคืนสิทธิ์นอกรอบ พร้อมลุยต่อโครงการจีเอสพี 3,000 รายการ ก่อนหมดสิ้นปี 2563

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ให้ระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทย 573 รายการ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักของการตัดสิทธิพิเศษจีเอสพีครั้งนี้ เป็นผลจากเรื่องของกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงาน รวมถึงการที่ประเทศไทยยังไม่ยอมเปิดให้มีการนำเข้าเนื้อสุกร เนื่องจากสุกรสหรัฐใช้สารเร่งเนื้อแดง

“ผลกระทบเบื้องต้นมีสินค้าที่ไทยใช้สิทธิพิเศษจีเอสพีเพียง 321 รายการ จากจำนวนรายการที่ถูกตัดสิทธิไป 573 รายการ และจากภาพรวมโครงการจีเอสพีสินค้าที่สหรัฐอเมริกาให้กับไทย รวม 3,500 รายการ ซึ่งแม้ว่าจะถูกตัดไปก็ยังเหลือสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์จีเอสพีอีก 3,000 รายการ ไทยยังใช้สิทธิพิเศษไม่เต็มประสิทธิภาพ เมื่อดูตัวเลขการใช้สิทธิจีเอสพีในการส่งออกเมื่อปี 2562 ใช้สิทธิจีเอสพีในสหรัฐเพิ่มขึ้น 10.20% ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 67% ของสิทธิพิเศษจีเอสพีที่ประเทศไทยได้รับจากหลายประเทศ”

ทั้งนี้ สินค้า 573 รายการ ประกอบด้วย สินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร เป็นต้น มูลค่าการส่งออกประมาณ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท ซึ่งไทยต้องเสียภาษีเฉลี่ย 4.7% จากเดิมไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ซึ่งจะคิดเป็นมูลค่าภาษีรวมประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาท

แหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า กรมการค้าต่างประเทศสามารถยื่นหนังสือถึงสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนคืนจีเอสพีทันที หากไทยดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. คืบหน้า โดยขณะนี้กฎหมายดังกล่าวทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติหลักการแล้ว ส่วนแผนการรับมือหลังถูกตัดสิทธิพิเศษจีเอสพีนั้น ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้จัดทำแผนส่งเสริมการส่งออกไปในตลาดต่าง ๆ แทน

พร้อมทั้งการทำตลาดออนไลน์ให้ความรู้อบรมผ่านระบบออนไลน์ การจัดงานแสดงสินค้าออนไลน์ เนื่องจากขณะนี้ต้องยอมรับว่าปัจจุบันสถานการณ์การค้า การส่งออกทั่วโลกไม่ได้อยู่ภาวะปกติ จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ส่งออกจึงต้องปรับตัวรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ได้แนะนำให้ผู้ส่งออกใช้สิทธิลดภาษีในข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ส่งออกไปยัง 13 ประเทศ ทดแทนสหรัฐ

“ผู้ส่งออกได้รับรู้และปรับตัวมาสักระยะหนึ่งแล้ว นับจากสหรัฐส่งสัญญาณการตัดจีเอสพี ทำให้ผู้ส่งออกรายใหญ่สามารถปรับตัวได้แล้ว แต่สิ่งที่ต้องช่วยเหลือต่อไป คือ กลุ่มเอสเอ็มอี กลุ่มรับจ้างผลิต ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานไปยังสถาบันทางการเงิน โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ เพื่อให้การช่วยเหลือการเข้าถึงเงินทุน การพักชำระหนี้ เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากนี้ยังไม่มีการพิจารณาตัดสิทธิจีเอสพีเพิ่มเติมในสินค้าอื่นแน่นอน เนื่องจากหลายประเทศกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ส่วนการพิจารณาต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษจีเอสพีที่กำลังจะครบกำหนดในเดือนธันวาคม 2563 นั้น เบื้องต้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสหรัฐว่าจะต่ออายุสิทธิพิเศษจีเอสพีของประเทศไทยหรือไม่ ต้องยอมรับว่าการให้สิทธิพิเศษจีเอสพีเป็นสิทธิพิเศษที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้กับประเทศใดก็ได้ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา เป็นการให้เพียงฝ่ายเดียว