“สุริยะ” เดินหน้าแบนพาราควอต เมินเสียงต้าน-สั่งเคลียร์สต๊อกหมื่นตัน

มติคณะกรรมการวัตถุอันตราย 17 เสียงยืนกรานแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” 1 มิ.ย. 63 เร่งกรมวิชาการเกษตรออกประกาศหลักเกณฑ์จัดการสต๊อกคงค้าง 10,000 ตัน พร้อมมาตรการเยียวยาเกษตรกร ด้าน “สมาคมกุ้ง ไก่ อ้อย อาหารสัตว์ สำนักนายกฯ” ลุยค้านแบน หวั่นกระทบวัตถุดิบนำเข้าขู่ปิดโรงงาน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 2-1/2563 เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2563 ว่า ที่ประชุมได้ลงคะแนนเสียง 17 จากกรรมการผู้ร่วมประชุม 24 คน (ไม่มาประชุม 4 คน) เห็นชอบให้ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่…) พ.ศ. ….ซึ่งกำหนดให้สารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย. 2563 ส่วนกรรมการที่เหลือมีผู้ออกเสียงไม่เห็นด้วย 6 คน และงดออกเสียงอีก 1 คน

โดยมตินี้เป็นไปตามมติเดิมในวันที่ 27 พ.ย. 2562 ที่ประกาศให้สารเคมีอันตราย2 ชนิด คือพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ในครอบครอง (แบน) พร้อมทั้งให้จำกัดการใช้สารไกลโฟเซต ในวันที่ 1 มิ.ย. 2563 เนื่องจากข้อมูลกรมวิชาการเกษตรชี้ว่าสารเคมีดังกล่าวมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ มอบให้กรมวิชาการเกษตรศึกษาต้นแบบจากต่างประเทศที่มีการยกเลิกการใช้ 2 สารนี้แล้วว่าสามารถใช้สารชนิดใดมาทดแทนจึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและมีราคาไม่แพง รวมถึงขอให้จัดหามาตรการเยียวยาเกษตรกรเพิ่มเติมจากมาตรการประกันรายได้ และวงเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้ดำเนินมาตรการเยียวยา เพื่อเสนอที่ประชุมครั้งต่อไปในเดือน พ.ค.

นางอุมาพร พิมลบุตร รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กล่าวว่า ขณะนี้สารพาราควอต และสารคลอร์ไพริฟอสยังคงค้างสต๊อกอยู่ประมาณ 10,000 ตัน ทั้งในร้านค้า บริษัทผู้ผลิต ผู้นำเข้า รวมถึงเกษตรกรบางส่วน โดยกรมวิชาการเกษตรจะเป็นผู้ออกประกาศกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเรียกเก็บทั้ง 2 สารเคมีเหล่านี้ต่อไป จากนั้นเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ตรวจสอบสต๊อกสารเคมี และยึดเพื่อนำไปทำลายตามกฎหมาย

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า หลังจากกรมวิชาการจัดทำหลักเกณฑ์ประกาศกระทรวงเรื่องการเรียกคืน วิธีการทำลาย รวมถึงโทษสำหรับผู้ที่มีครอบครองไว้แล้ว ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อีกด้านหนึ่งในการประชุมครั้งนี้มีหน่วยงานยื่นหนังสือคัดค้านการแบนสารเคมี 4 หน่วยงาน คือ 1.สมาคมกุ้งไทย 2.สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เพราะยังต้องใช้วัตถุดิบนำเข้าทั้งข้าวสาลี กากถั่วเหลือง จากสหรัฐ บราซิล อาร์เจนตินา ซึ่งยังใช้สารเคมีดังกล่าว 3.สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จากที่ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากเครือข่ายเกษตรกร และ 4.สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย (สนอท.)

ด้านนายกิตติ ชุณหวงศ์ นายก สนอท. เปิดเผยรายงานการศึกษาประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจว่า หากยกเลิกการใช้สารพาราควอตจะกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยคาดว่าผลผลิตอ้อยจะลดลงทันที 50% คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 150,000 ล้านบาท เนื่องจากชาวไร่ต้องใช้พาราควอตควบคุมวัชพืชช่วงระยะแตกกอ และระยะอ้อยย่างปล้อง หากไม่ใช้ควบคุมวัชพืชไม่ได้จะทำให้ผลผลิตลดลงเหลือ 67-108 ล้านตันจากเดิม 134.8 ล้านตัน และกระทบอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีก 150,000 ล้านบาทรวมสูญเสีย 300,000 ล้านบาท

“การยึดมติเดิมจะเป็นการซ้ำเติมชาวไร่อ้อยจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้วจากผลกระทบภัยแล้ง และรายได้จากการส่งออกที่ลดลงจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รัฐควรพิจารณาช่วยเหลือเรื่องต้นทุนปัจจัยการผลิต ซึ่งปรับสูงขึ้นถึง 1,200-1,300 จากเดิมที่ 1,110 บาทต่อไร่ ส่วนค่าอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 750 บาทต่อไร่ นี่เป็นแนวทางเดียวที่จะช่วยโดยไม่ขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO)”

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า ต้องถามกลับไปยังคณะกรรมการให้แบนและจำกัดการใช้สารเคมีนี้ว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป 4 เดือน ยังไม่เห็นมาตรการกรมวิชาการเกษตรไปหาสารทดแทน ซึ่งหากพ้น 1 มิ.ย.ไปไทยต้องไม่มีส่วนผสมของสารนี้ในสินค้าหรือแม้แต่ในวัตถุดิบนำเข้า ซึ่งหากประเทศผู้นำเข้าคู่ค้ามาตรวจสอบแล้วพบว่าเราทำไม่ได้ ก็เป็นสิทธิที่ฟ้องร้องต่อ WTO ได้ว่าเราใช้มาตรการห้ามสินค้านำเข้า ส่วนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้วัตถุดิบนำเข้าอย่างผู้ผลิตน้ำมันพืชใช้เม็ดถั่วเหลืองนำเข้าปีละ 2-3 ล้านตัน ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปใช้ข้าวสาลี นำเข้าปีละ 1 ล้านตัน รวมถึงอาหารสัตว์ที่ต้องซื้อกากถั่วเหลืองได้รับผลกระทบแน่นอน ก็ต้องหาทางออกว่าจะทำอย่างไร ต้องปิดโรงงานไปหรือไม่

นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า สมาคมเห็นด้วยกับการแบนสารเคมี แต่สมาคมเป็นผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีสารอันตรายเป็นส่วนประกอบ จากนี้จึงขึ้นอยู่กับผู้ผลิตอาหารสัตว์จะผลิตอาหารที่ไม่มีสารเคมีดังกล่าวเพียงพอหรือไม่ หากมีเพียงพอต่อความต้องการก็พร้อมจะปรับตัว