กฟผ. จ่อรื้อแผนลงทุนคืนเงิน กกพ. อุ้มค่าไฟ

3 การไฟฟ้ารับสภาพ เกลี่ยค่าปรับ-เงินลงทุนที่ไม่เป็นไปตามแผนคืนให้ กกพ.ช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า 25,000 ล้านบาท กฟผ.-กฟภ.รับภาระหนักสุด 18,000 ล้านบาท กฟน.อีก 6,000 ล้าน กฟผ. เล็งทบทวนแผนลงทุนสายส่ง-โรงไฟฟ้า หวั่นกระทบการขับเคลื่อนจีดีพีประเทศ

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติกรณีที่รัฐบาลกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 เป็นการเพิ่มเติม หรือโครงการใช้ไฟฟ้าฟรี-ลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 50-70 จำนวน 22 ล้านราย วงเงิน 23,668 ล้านบาท ด้วยการให้ 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)-การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)-การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ประเมินผลกระทบและภาระทางการเงินเพื่อสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าเพิ่มเติมของรัฐบาล เบื้องต้นทั้ง 3 การไฟฟ้าสามารถบริหารกระแสเงินสด การนำรายได้ส่วนเกินมาใช้ในโครงการนี้ได้

“กกพ.ได้ร่วมกับ 3 การไฟฟ้า ได้พิจารณาแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาสนับสนุนมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ โดยจะมาจากเงินบริหารค่าไฟฟ้าที่รวบรวมได้จากการกำกับฐานะการเงิน เงินส่งคืนจากการลงทุนที่ไม่เป็นไปตามแผน เงินค่าปรับที่เกิดขึ้นจากการบริหารสัญญาของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในช่วงปี 2557-2562 รวมทั้งเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน โดยการไฟฟ้าจะบริหารกระแสเงินสดให้เพียงพอกับการใช้เงินในช่วงเวลาดังกล่าว ยอดเงินที่ขาดเกินจากการใช้จริงจะถูกนำมาเกลี่ยรวมกับการกำกับฐานะการเงินและการกำกับแผนการลงทุนของทั้ง 3 การไฟฟ้า ที่ไม่เป็นไปตามแผน (claw back) ในปี 2563” นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าว

เกลี่ยรายได้-เงินลงทุนส่วนเกิน

ขณะที่ นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ที่ประชุม กกพ.มีมติจะให้ดึงเงินในส่วนของ claw back หรือเงินที่ส่งคืนจากการลงทุนที่ไม่เป็นไปตามแผนของ 3 การไฟฟ้า ซึ่งเงินจำนวนนี้จะรวมเงินค่าปรับที่เกิดขึ้นจากการบริหารสัญญาของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในช่วงปี 2557-2562 คิดรวมเป็นวงเงินทั้งหมด 25,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับที่ประมาณการโครงการไว้ แบ่งเป็น ส่วนของ กฟภ.และ กฟผ.แห่งละ 8,000-9,000 ล้านบาท ส่วน กฟน.อีก 6,000 ล้านบาท โดยจะนำมาใช้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าในส่วนของภาคครัวเรือนในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 และมาตรการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมตามมติที่หารือก่อนหน้านี้ ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้ขยายเวลา “ยกเว้น” การเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (minimun charge) ที่จะเรียกเก็บจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ ร้อยละ 70 ของค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด ซึ่งจะหมดอายุเดือนมิถุนายน ออกไปจนถึงเดือนธันวาคม 2563 ตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยื่นข้อเสนอ

“เราสามารถดำเนินการได้ทันที เป็นอำนาจของ กกพ.ที่จะเรียกคืนเงินก้อนนี้กลับมาได้อยู่แล้ว แต่ที่ต้องมาดูกันว่า 3 การไฟฟ้ามีประเด็นอะไร หรือมีข้อต่อรองอะไรที่จำเป็นหรือไม่ ที่อาจจะทำให้นำส่งคืนเงินก้อนนี้ไม่ได้ เช่นว่า ฐานะทางการเงินไม่ดี มีคนเบี้ยวหนี้ไม่จ่ายค่าไฟฟ้า มีการลดราคาค่าไฟมีผลกระทบต่อรายได้จึงส่งคืนไม่ได้ แต่หากอยู่ในสภาวะปกติก็ส่งคืนไปได้ และต้องมาพิจารณาร่วมกันว่า ถ้าดึงเงินนี้คืนไปแล้ว ฐานะทางการเงินของการไฟฟ้าลดลงไปจะมีผลเชื่อมโยงต่อการดำเนินการ-การลงทุนอะไรหรือไม่ ต้องมาดูกระแสเงินสดของเราเองว่าไหวไหม หาก กฟผ.ไม่ไหว เราจะขอชะลอจ่ายค่าก๊าซได้หรือไม่ เท่าที่หารือ ณ ตอนนี้ กฟผ.ยังไหว แต่พอถึงปลายเดือนพฤษภาคมจะเป็นอย่างไร ไม่รู้ ต้องมาดูอีกที เพราะเราไม่ทราบว่า โควิดจะกระทบเศรษฐกิจยืดเยื้อไปเพียงใด ตัวเลขเงินช่วยเหลือทั้งหมดยังเป็นการคาดการณ์ หากวงเงินที่จะต้องส่งคืนก้อนนี้ไม่พอ กกพ.จะเป็นผู้พิจารณาว่า จะไปดึงหรือจัดสรรเงินได้จากแหล่งใดเข้ามาเพิ่มเติม” นายพัฒนากล่าว

ยังลงทุนสายส่งต่อไป

ส่วนคำถามที่ว่า การดึงเงินส่วนนี้กลับจาก กฟผ. จะส่งผลให้ กฟผ.ต้องชะลอแผนการลงทุนหรือไม่นั้น นายพัฒนากล่าวว่า ต้องพิจารณาหลักการที่ว่า กฟผ.จะต้องลด “อัตราผลตอบแทนการลงทุน (ROIC)” หรือลดกำไรให้รัฐได้เท่าไร เนื่องจากทั้ง 3 การไฟฟ้าเป็นรัฐวิสาหกิจ การลงทุนจะต้องมีการพิจารณาอัตราผลตอบแทนที่จะส่งคืนรัฐ และส่วนของเม็ดเงินที่จะใช้ดำเนินการลงทุนต่อด้วย จากตามปกติการลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะใช้เงินของตัวเอง 30% และเงินกู้อีก 70%

“กฟผ.ต้องมาดูว่า มีโครงการลงทุนอะไรที่อยู่ในแผน และแยกว่าโครงการไหนจำเป็นต้องลงทุนทันที หรืออาจจะชะลอไว้ได้ ซึ่งตามแผนการลงทุนของ กฟผ.ในปีงบประมาณนี้ มีการวางเม็ดเงินลงทุนไว้ประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดการลงทุนในช่วงไตรมาส 1 ยังเหลือการลงทุนในไตรมาส 2-3 อีก 70% โดยแผนการลงทุนหลักจะเน้นไปที่สายส่ง สัดส่วน 70% ขณะที่การลงทุนโรงไฟฟ้ามีเพียง 30% เท่านั้น หลังจากนี้ต้องพิจารณาว่า สภาพการลงทุนจะออกมาอย่างไร เพราะถ้ารัฐวิสาหกิจเลื่อนการลงทุนก็อาจจะกระทบเศรษฐกิจ”