เอ็กซิมแบงก์-สภาผู้ส่งออก ห่วงหนี้สาธารณะพุ่ง คาดส่งออกทั้งปีติดลบ 8%

สภาผู้ส่งออก คาดการส่งออกทั้งปี 2563 ติดลบ 8% จากโควิด-19 ราคาน้ำมันตกต่ำ ขณะที่เอ็กซิมแบงก์ สภาผู้ส่งออกห่วงหนี้สาธารณะจะพุ่งสูงจากมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ รับต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สภาผู้ส่งออกฯ คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัว -8% โดยมีปัจจัยหลักยังมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และจีน ที่เศรษฐกิจส่วนใหญ่ติดลบ และคาดการณ์ในระยะต่อไปว่าอาจจะมีปัญหาหนี้ครัวเรือนและกำลังซื้อของทุกๆ ประเทศลดลงต่อเนื่อง ขณะที่การขนส่งที่ยังไม่สะดวกในหลายพื้นที่จากปัญหาการปิดประเทศ อีกทั้งมีผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับภาระต่อไปเพิ่มเติม โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้จึงมองว่าโอกาสที่การส่งออกทั้งปีของไทยยังติดลบ

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยของค่าเงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่า จากการเริ่มผ่อนคลายมาตรการทางการเงินในกลุ่มประเทศขนาดใหญ่มากขึ้น ประกอบกับดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังคงเกินดุลในระดับสูง ราคาน้ำมันที่ความผันผวนอย่างรุนแรง เนื่องมาจากความต้องการน้ำมันหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณน้ำมันกลับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโรงกลั่นในสหรัฐ ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงอย่างรุนแรง ขณะที่กลุ่ม OPCE และพันธมิตร ตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิต 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่านที่อาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น  ส่วนปัจจัยบวกที่มีผลต่อการส่งออก  เช่น  การผ่อนปรนมาตรการ lockdown ในประเทศไทย สำหรับบางสถานประกอบการ ทำให้ธุรกิจสามารถเริ่มกลับมาประกอบการและทำการผลิตได้

สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป เวชภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และทองคำ อาหารแปรรูป และผัก ผลไม้จากไทย และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงทองคำที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้น ดังนั้น สภาผู้ส่งออกฯมีข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งฟื้นฟูให้เศรษฐกิจกลับมา เช่น การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ การฟื้นฟูด้านการเงินผ่านเงินกู้เพื่อ SMEs และผู้ส่งออกขนาดกลางและขนาดใหญ่ พร้อมทั้งรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ระหว่าง 32.50-34.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ยกระดับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร

ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ส่งเสริมการพัฒนาและใช้ประโยชน์ Cold Storage และ Distribution Center ทั่วประเทศให้มีเพียงพอและสามารถจัดเก็บผลผลิตทางการเกษตรสำหรับจำหน่ายนอกฤดูกาล เพื่อลดแรงกดดันต่อราคาและข้อจำกัดด้านโลจิสติกส์ในช่วงฤดูกาล ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้าและพิธีการศุลกากร ลดอุปสรรคและข้อกีดกันทางการค้า ลดภาษี และลดต้นทุนการผลิตและการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร อาทิ ยกเว้นการพิจารณา AD Tin Plate เพื่อให้นำเข้าได้เพียงพอต่อความต้องการบรรจุภัณฑ์ภายในประเทศ ยกเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำผลไม้ 100% ยกเลิกโควตาและข้อห้ามการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตในอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร เป็นต้น

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การประเมินเศรษฐกิจและการส่งออกในไตรมาส 2 นั้น ยังประเมินทิศทางลำบาก เนื่องปัญหาหลักมาจากมาตรการล็อกดาวน์ของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน รวมไปถึงมาตรการผ่อนคลาย ซึ่งจะเห็นว่าบางประเทศมีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น รวมไปถึงประเทศไทย ดังนั้น ภาพการค้า การส่งออกจึงประเมินทิศทางได้ไม่เต็มที่เพราะยังต้องติดตามเรื่องของการติดเชื้อเป็นหลัก แต่โดยภาพรวมมองว่ามีทิศทางที่ดีขึ้นเพราะทำให้ภาคธุรกิจสามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้บ้าง อีกทั้งหากจะประเมินว่าจะกลับมาดีขึ้นได้นั้นมองว่าน่าจะเป็นช่วงปลายปีของปี 2563 นี้

ขณะที่ภาพของสงครามการค้าเชื่อว่า ขณะนี้ทางสหรัฐฯคงจะยังไม่มีมาตรการหรือปัจจัยอะไรรุนแรงออกมาในช่วงนี้มากนัก เนื่องจากเป็นช่วงใกล้เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยประเมินหากจะมีมาตรการใดออกมา อาจจะเป็นมาตรการที่ต้องการรักษาผลประโยชน์ทางการค้าของสหรัฐ แต่ด้วยจากปัญหาในปัจจุบันยังต้องติดตามสถานการณ์ว่าสหรัฐจะมีมาตรการใดเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้ในเร็วนี้มากนัก

ด้านนายสิทธิกร ดิเรกสุนทร รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวว่า ทางธนาคารประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ติดลบ 5.3% ขณะที่เศรษฐกิจในปี 2564 ขยายตัว 3% ส่วนการส่งออกของไทยในปีนี้ คาดว่าติดลบ 5% ถึง ติดลบ 8% หรือมีมูลค่าอยู่ที่  226,545-233,532 ล้านเหรียญสหรัฐ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยืดเยื้อถึงเดือนมิถุนายน 2563 โดยปัจจัยที่กระทบต่อภาคการส่งออกและเศรษฐกิจของประเทศ หลักยังมีจากปัญหาของโควิด-19 ราคาน้ำมันตกต่ำ สงครามการค้า ไทยเสียเปรียบทางการแข่งขันในข้อตกลงการค้าในตลาดยุโรป ไทยถูกตัดจีเอสพี ปัญหาภัยแล้ง เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของไทย

ส่วนปัจจัยบวกที่กระทบ เช่น สินค้าบางรายการของไทยมีการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น อาทิ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าบางรายการของไทยส่งออกไปตลาดสหรัฐเพิ่มขึ้น ทดแทนการนำเข้าจากจีน ค่าเงินบาทที่ยังอ่อนค่า เป็นต้น อย่างไรก็ดี เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยยังคงสามารถดำเนินธุรกิจภายใต้ปัจจัยเสี่ยงในปัจจุบัน  ทางธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือ

อาทิ การพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือนให้กับลูกค้า ขยายเวลาประกันการส่งออกสูงถึง 180-270 วัน เปิดให้คำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษทั้งรูปแบบระยะสั้นและระยะยาว และสินเชื่อส่งเสริมการจ้างงาน เป็นต้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวที่ออกมา เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อยังคงดำเนินธุรกิจในช่วงวิกฤตนี้ไปได้ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทางธนาคารกังวลสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ เรื่องของสาธารณะที่อาจจะสูงขึ้นจากการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ที่ต้องติดตามต่อไป