SME อัญมณีตกที่นั่งลำบาก GIT ดัน “พลอยสี” หลักประกันธุรกิจ

สัมภาษณ์

อัญมณีและเครื่องประดับยังน่าห่วงไม่น้อย แม้ว่าการส่งออกในช่วงไตรมาส 1/2563 จะมีมูลค่า 5,442 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 70% แต่ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูป มูลค่า 3,879 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 220.8% ขณะที่สินค้าอัญมณี (ไม่รวมทองคำ) มีตัวเลขเพียง 1,563 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 20% ผลพวงจากโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก ผู้บริโภคต้องรัดเข็มขัดลดสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นอันดับแรก แต่หากเป็นอย่างนี้ต่อไปย่อมกระทบต่ออุตสาหกรรมทั้งระบบ “นางดวงกมล เจียมบุตร” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

โควิดกระทบผู้ผลิตอัญมณี

ตอนนี้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระจากผลกระทบโควิด-19 ส่งออกไม่ได้ เนื่องจากประเทศผู้นำเข้ากระทบปัญหาเช่นเดียวกัน ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ การปิดประเทศไม่สามารถส่งสินค้าได้ นอกจากนี้ รายได้หลักจากการขายเครื่องประดับให้กับนักท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบ เพราะนักท่องเที่ยวหายจากปัญหานี้ รายได้จากกลุ่มนี้ก็หายไป

ประกอบกับตอนนี้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระค่าแรงงาน ดูแลคนงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทย ซึ่งแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 738,139 คน ซึ่งแบ่งออกเป็นแรงงานในเหมืองและเจียระไนเพชรพลอย ประมาณ 15,868 คน แรงงานในภาคการผลิตและออกแบบ ประมาณ 141,123 คน และแรงงานในภาคค้าส่งและค้าปลีกที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 581,148 คน

เมื่อดูตัวเลขผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับทั่วประเทศ ปัจจุบันมีประมาณ 12,612 ราย แบ่งเป็น ผู้ประกอบการในภาคการผลิต ประมาณ 1,559 ราย ผู้ประกอบการภาคค้าส่ง ประมาณ 2,314 ราย และผู้ประกอบการภาคค้าปลีก ประมาณ 8,739 ราย และหากดูขนาดของธุรกิจส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ประมาณ 12,446 ราย ผู้ประกอบการขนาดกลาง ประมาณ 102 ราย และผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ประมาณ 64 ราย

ดังนั้น จะเห็นว่า ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับอยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอีและเข้าถึงแหล่งเงินทุนลำบาก แม้ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการจะเข้ามาอยู่ในระบบทางภาษี หรือระบบทางบัญชีแล้วก็ตาม

หลักประกันทางธุรกิจ “พลอยสี”

จีไอทีอยู่ระหว่างการหารือกับสถาบันทางการเงินในการหาแนวทางให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะในกลุ่มพลอยสี เช่น ทับทิม ไพลิน มรกต เป็นสินค้าที่เข้าถึงหลักประกันทางธุรกิจได้ ตามกฎหมาย พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ โดยมีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานหลักดูแล ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถนำสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเข้าหลักประกันธุรกิจ เข้าถึงแหล่งเงินทุน

“เบื้องต้นจีไอทีร่วมหารือกับสถาบันทางเงินไปแล้วระดับหนึ่ง แต่ยังคงติดปัญหาที่ทางสถาบันทางการเงินยังไม่รับให้พลอยสี นำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ เนื่องจากไม่สามารถประเมินมูลค่าของพลอยสี รวมถึงหากรับหลักประกันแล้ว เมื่อครบกำหนดระยะว่าคืนหลักประกัน ผู้ประกอบการไม่สามารถคืนหลักประกันได้ สถาบันทางการเงินจะนำสินทรัพย์ดังกล่าวไปจำหน่าย หรือทำการประมูลสินค้าได้ช่องทางไหนบ้าง ปัจจุบันแม้มีกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่ต้องการร่วมหารือทุกหน่วยงาน หาแนวทางร่วมกัน จะกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข หรือขั้นตอนในการนำเอาอัญมณีเข้ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้อย่างไร”

ตั้งคณะทำงานประเมินราคา

จีไอทีเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ซึ่งจะมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้เชี่ยวชาญในการประเมินราคา ผู้ประกอบการ สถาบันทางการเงิน รวมไปถึงตัวแทนจากจีไอที เป็นต้น เพื่อเป็นคณะกรรมการกลางในการประเมินมูลค่าของอัญมณีว่าอัญมณีดังกล่าวมีมูลค่าการค้า มูลค่าทางการตลาดเป็นอย่างไร และให้การรับรอง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สถาบันทางการเงินซึ่งเป็นสถาบันที่รับหลักประกันเชื่อมั่นในอัญมณีดังกล่าวได้ว่ามีมูลค่าทางการตลาด สามารถทำให้ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

“แผนการผลักดันให้อัญมณีสามารถเข้าถึงหลักประกันทางธุรกิจได้ แม้จะไม่สามารถดำเนินการได้ทันทีในตอนนี้ แต่ในระยะยาวจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างมาก เพราะต้องยอมรับว่าแม้ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกในอัญมณีและเครื่องประดับจะทำมูลค่าทางการตลาดได้ดี สร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่การที่ผู้ประกอบการเหล่านี้จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนกับทางสถาบันทางการเงินได้นั้น เป็นเรื่องที่ยากและลำบากอย่างมาก และการผลักดันแนวทางดังกล่าวได้จะเป็นประโยชน์อย่างมากให้กับผู้ประกอบการได้มากในอนาคต”

หนุนออกแบบผลิตภัณฑ์

อีกด้านหนึ่งเพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและมีช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมได้ในอนาคต จะส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้ประกอบการกลุ่มคิดค้นออกแบบผลิตภัณฑ์ สินค้าใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดมากขึ้น รวมไปถึงในการนำนวัตกรรมรูปแบบใหม่เข้ามาช่วยเหลือในการอุตสาหกรรมดังกล่าวนี้มากขึ้น พร้อมกันนี้ ทางจีไอทีจะมีแอปพลิเคชั่นให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งข้อมูล บริการของจีไอที ซึ่งกำลังจะเปิดตัวในเร็วนี้ด้วย


ขณะนี้ทางหน่วยงานภาครัฐนำมาตรการเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในช่องทางต่าง ๆ มากมาย แต่หากนำอัญมณีเข้าเป็นสินค้าที่สามารถใช้เป็นหลักประกันธุรกิจได้จะเป็นช่องทางช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ในอนาคต ปัจจุบันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย เป็นสินค้าสำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศได้สูงเป็นอันดับ 2 เมื่อรวมกับมูลค่าการค้าภายในประเทศ ก่อให้เกิดเม็ดเงินถึงปีละเกือบ 1 ล้านล้านบาท