สมอ.ปรับเกณฑ์รับโควิด-19 งดส่งเจ้าหน้าที่ตรวจโรงงาน

แฟ้มภาพ

“สมอ.” ปรับแผนรับมือโควิด-19 ออกประกาศกระทรวงอนุมัติใบอนุญาตโดยตรวจสอบสินค้าตัวอย่างแทนการส่งเจ้าหน้าที่ตรวจโรงงานในต่างประเทศ ย้ำการ์ดไม่ตกคุมเข้มลักลอบนำเข้าสินค้า มอก.บังคับ ช่วง 2 เดือนเซ็นใบอนุญาตเฉพาะเพียง 266 ใบ นำเข้าสินค้ากว่า 543 ล้านบาท สินค้ารถยนต์มากที่สุด

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขยายระยะเวลาบังคับใช้ประกาศกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานบังคับ (มอก.บังคับ) ให้สามารถนำเข้ามายังประเทศไทยได้โดยจะยกเว้นการตรวจควบคุมโรงงานออกไปอย่างไม่มีกำหนด จากเดิมประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบรุนแรง ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส มีผลทำให้เจ้าหน้าที่ สมอ.ไม่สามารถตรวจระบบควบคุมคุณภาพของโรงงานผู้ทำ ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศได้ จึงจำเป็นต้องอำนวยความสะดวกทั้งผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ของ สมอ.เอง ซึ่งการยกเว้นดังกล่าวยังไม่มีกำหนด จนกว่าการแพร่ระบาดจะคลี่คลาย

ส่วนการออกใบอนุญาต สมอ.ยังคงดำเนินการได้ตามปกติ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบ เพื่อการอนุญาตและติดตามผล แม้ไม่ต้องทำการตรวจระบบ ควบคุมคุณภาพโรงงาน แต่จะเพิ่มการตรวจสอบเข้มข้นในส่วนของตัวอย่างผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และเป็นการอนุญาตให้นำเข้าในแต่ละครั้งเท่านั้น โดยสินค้าที่จะนำเข้ายังต้องผ่านกระบวนการช่องทางนำเข้าเดิมตามปกติ เมื่อมาถึงท่าเรือปลายทางที่ประเทศไทย ทางเจ้าหน้าที่ สมอ.จะลงพื้นที่เพื่อสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ลอตดังกล่าว แล้วนำส่งให้ทดสอบเพื่อตรวจสอบว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่

“สินค้าที่เข้ามาเราจะตรวจให้เฉพาะเซ็กเมนต์นั้น แต่ในการนำเข้าครั้งต่อไปก็ต้องสุ่มตรวจเหมือนเดิม คือตรวจแต่ละเซ็กเมนต์ ไม่ใช่ถาวร และล่าสุดเราได้ขยายเวลาจากยกเว้นถึงวันที่ 30 เม.ย. 2563 ไปเรื่อยจนไม่มีกำหนดวัน จนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย เราถึงจะกลับมาเริ่มตรวจสินค้าและโรงงานในแบบเดิม และเราเข้มงวดการตรวจมากขึ้น เพื่อไม่ให้อาศัยช่วงโควิดนี้ลักลอบนำเข้าสินค้าไม่มี มอก.บังคับเข้ามา”

จากการรายงานพบว่า หลังออกประกาศกระทรวง สมอ.ได้ออกใบอนุญาตโดยไม่ต้องตรวจโรงงาน หรือใบอนุญาตแบบเฉพาะครั้งไปแล้วจำนวน 266 ใบอนุญาต มูลค่ากว่า 543 ล้านบาท ซึ่งมี 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.รถจักรยานยนต์ รถยนต์ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ประกอบด้วย มอก.2315-2551 รถยนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิด ด้วยการอัดเฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 4 มอก. 2350-2551 รถจักรยานยนต์ เฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 6, มอก. 2540-2554 รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟ เฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 8, มอก.2550-2554 รถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด เฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 7 จำนวนใบอนุญาต141 ใบ มูลค่า 449 ล้านบาท

2.กระจกนิรภัย มอก.2602-2556 กระจกนิรภัยสำหรับยานยนต์ จำนวนใบอนุญาต 62 ใบ มูลค่า 79 ล้านบาท 3.ของเล่น มอก.685-2540 จำนวนใบอนุญาต 60 ใบ มูลค่า 14 ล้านบาท 4.เครื่องใช้ไฟฟ้า มอก.1195-2536 เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์เกี่ยวข้อง ที่ใช้กับแหล่งจ่ายไฟฟ้าประธาน สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย และงานทั่วไปที่มีลักษณะคล้ายกัน เฉพาะด้านความปลอดภัย จำนวนใบอนุญาต 3 ใบ มูลค่า 1 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ทาง สมอ.ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศ เพื่อบรรเทาภาระให้เช่นกัน โดยสมอ.จะตรวจติดตามโดยไม่ต้องตรวจโรงงาน แต่ให้ผู้รับใบอนุญาตรับรองตนเอง (self declaration) ด้วยการส่งข้อมูลผลการตรวจคุณภาพ ผลทดสอบผลิตภัณฑ์และผลการสอบเทียบเครื่องมือ ผ่านระบบe-Surveillance ของ สมอ.ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ ซึ่งจนถึงขณะนี้มีจำนวนผู้รับรองตนเองผ่านระบบดังกล่าวแล้วกว่า 300 ราย


อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2562 (ฉบับใหม่) ได้มีการปรับแก้บทลงโทษ เช่นในกรณีที่ผู้นำเข้าต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน (มอก.บังคับ) เข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร ต้องแสดงหลักฐานให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และได้รับใบอนุญาตจากเลขาธิการ สมอ. ก่อนรับมอบไปจากเจ้าพนักงานศุลกากร สำหรับในกรณีที่เป็นการนำเข้ามาโดยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่าย แต่ได้นำมาเกินจำนวนที่ สมอ.กำหนด ต้องแจ้งต่อ สมอ. ก่อนรับมอบไปจากเจ้าพนักงานศุลกากร และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด บทลงโทษ ได้เพิ่มโทษปรับของผู้ทำและนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน (มอก.บังคับ) โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก สมอ. จะถูกจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิมจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาทเท่านั้น หรือทั้งจำทั้งปรับ