แผนฟื้นฟูอุตรับนิวนอร์มอล ใช้สินค้าเมดอินไทยแลนด์ดันเศรษฐกิจท้องถิ่น

“ส.อ.ท.” เปิดแผนฟื้นฟู 45 อุตสาหกรรมหลังโควิด-19 รับวิถีใหม่ new normal สร้างโอกาสธุรกิจใหม่ แนะรัฐปลดล็อกจัดจ้างสินค้าเมดอินไทยแลนด์คู่ขนานนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น local economy คาด 4 อุตสาหกรรมรับอานิสงส์ทั้งเกษตร เครื่องมือแพทย์ อาหารเสริม หุ่นยนต์ เปิดตลาด CLMVT ด้าน “สุริยะ” เตรียมชงงบฯ 10,000 ล้าน จ้างแรงงานในพื้นที่ช่วย SMEs หวังฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฟื้นฟูหลังโควิด-19 ภายใต้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ภาคอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะอนุกรรมการได้ประชุมร่วมกับประธานทั้ง 11 คลัสเตอร์ ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงแนวทางการปรับตัวของธุรกิจจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ และหลังจากวิกฤตได้คลี่คลายลงอย่างเร็วที่สุดคือ กลางปีนี้ และช้าที่สุดคือ สิ้นปี 2563 ซึ่งจะทำให้เกิดวิถีชีวิตแบบความปกติใหม่ หรือ new normal ขึ้น

“สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ new normal เป็น model business ใหม่ แล้วการปรับตัวของธุรกิจเราจะรับมืออย่างไรกับซัพพลายเชนในอนาคตที่กำลังจะเปลี่ยนไป และคาดว่าจะเกิดการกีดกันทางการค้าในประเทศที่สามารถผลิตสินค้าเองได้ เรายังไม่รู้ว่าจะเป็นโอกาสหรือวิกฤต ปัจจุบันเราพึ่งพาส่งออก 70% ซึ่งการระบาดครั้งนี้อย่างเร็วอาจจบช่วงกลางปี อย่างช้าคือสิ้นปี แต่จะอยู่กับทั้งโลกไปอีก 1-1.5 ปีแน่นอน”

ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์ทางคณะได้วางแนวทางปฏิบัติเป็น 2 ช่วง คือ 1.ช่วงปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ขณะนี้ นโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันทีคือ ทาง ส.อ.ท.เตรียมจัดทำแอปพลิเคชั่นแชริ่งแรงงานในอุตสาหกรรม ใช้วิธีโยกย้ายแรงงานให้กับกลุ่มโรงงานที่ยังมีการผลิตอยู่ โดยรูปแบบการจ้างงานชั่วคราวในอัตราค่าจ้างแบบรายวัน หรือรายชั่วโมงแล้วแต่นโยบายของโรงงานนั้น ๆ เป็นการช่วยแรงงานที่ตกงาน และซัพพอร์ตโรงงานที่มียอดการผลิตส่งขายไม่ทัน

เช่น โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป โดยในระหว่างนี้จะมีการประชุมประเมินสถานการณ์ทุกสัปดาห์เพื่อรับมือ ซึ่งจะมีการเร่งผลิตสินค้าที่มีความต้องการสูง เช่น หน้ากากอนามัย รวมถึงการผลิตชุด PPE สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีไม่เพียงพอจะขายในประเทศ และจากเดิมที่ต้องนำเข้าทั้งหมด 100% ในอนาคตจะเปิดตลาดในต่างประเทศมากขึ้น เริ่มในภูมิภาคนี้ก่อน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย)

นายเกรียงไกรมองว่า เป้าหมายแผนฟื้นฟูหลังจบโควิด-19 คือการลดการพึ่งพาต่างประเทศ โดยเกิดการปฏิวัติทั้งระบบซัพพลายเชน ซึ่งอาจเกิดการปกป้องตนเองนั่นคือ เกิดการกีดกันทางการค้าที่เข้มขึ้น และระบบไอที ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิต และการทำธุรกิจมากขึ้น พร้อมทั้งประเมินว่า 4 อุตสาหกรรมจะได้รับ

อานิสงส์ คือ 1.อุตสาหกรรมเกษตร การผลิตอาหารที่น่าจะเป็นดาวรุ่ง เพราะทั่วโลกขาดแคลน ขณะที่ไทยมีความพร้อมวัตถุดิบ และสามารถส่งออกได้ทุกรูปแบบทั้งแช่แข็ง สำเร็จรูป

2.อุตสาหกรรมการแพทย์ โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ เห็นได้จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดจากทีมแพทย์ของไทยมีศักยภาพ ทำให้อุตสาหกรรมนี้มีความสำคัญอย่างมาก เมื่อความต้องการสูงความสามารถของไทยที่ผลิตได้ จึงเป็นโอกาสในการเปิดตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

3.อุตสาหกรรมอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจะเข้ามามีบทบาทไม่น้อย เมื่อคนหันมารักษาสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จำพวกสมุนไพรควรส่งเสริมเพาะปลูก เป็นรายได้ชุมชนหรือเกษตรกรมากขึ้น 4.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้หุ่นยนต์มีบทบาทเข้ามาแทนที่แรงงาน ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น รวมถึงผู้พัฒนาระบบ เป็นต้น จึงเกิดการผลิตเพิ่มขึ้นตามมา

“ส.อ.ท.จะผลักดันนโยบาย Made in Thailand โดยมีแผนหารือกับกรมบัญชีกลางเร็ว ๆ นี้ เพื่อขอให้ปรับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ โดยการแก้ไข พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง กำหนดให้ใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยซื้อขายในประเทศ ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ จากนั้นในอนาคตหากจะเปิดตลาดจะเริ่มในกลุ่ม CLMV ก่อน นโยบายนี้จะทำให้อุตสาหกรรมที่ติดลบสามารถอยู่ได้ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งทั้ง 45 กลุ่มต้องมานั่งคุยกันว่าจะทำอย่างไร อุตสาหกรรมไหนมีโอกาส หรือกำลังจะอยู่ไม่รอด ต้องปรับโครงสร้างการผลิตในบางประเทศอย่างสหรัฐและยุโรป อาจทบทวนเรื่องซัพพลายเชนใหม่ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นโอกาสการส่งออกของไทยหรือไม่ จึงต้องเร่งนโยบาย Made in Thailand ควบคู่กับ Local Economy ที่ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมได้เริ่มกำหนดโครงการมาแล้ว ต้องการจ้างงานในพื้นที่ ใช้อุตสาหกรรมเป็นตัวนำ ผลิตเองก็ซื้อขายกันในประเทศจะทำให้เราอยู่รอดทุกวิกฤต”

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงนโยบาย Local Economy ว่า จะเป็นแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 จบลง โดยกระทรวงเตรียมของบประมาณ 10,000 ล้านบาท ภายใต้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ดำเนินโครงการหลายส่วน ทั้งการช่วยเหลือ SMEs การช่วยภัยแล้ง รวมถึงการจ้างงานในพื้นที่ เช่น ของบประมาณ 340 ล้านบาท เพื่อจ้างเกษตรกรชาวไร่อ้อยและเครือข่าย5,000 ราย เข้าไปปรับพื้นที่เตรียมทำเกษตร จ้างแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง 500 คนรอบเหมืองแร่เพื่อช่วยดำเนินโครงการจัดหาแหล่งน้ำในขุมเหมืองแก้ภัยแล้ง เป็นต้น