‘สมคิด’ โบกธง ธกส.ปล่อยกู้เกษตรกร ‘ดอกเบี้ยติดลบ’

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแนวทางการฟื้นฟูเกษตรกรหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้และไตรมาสที่ผ่านมาขยายตัวไม่ดีนัก ส่วนไตรมาสหน้าจะเป็นไตรมาสที่ได้รับผลกระทบจากโควิดแบบเต็มที่ ฉะนั้น ในภาวะที่เกิดวิกฤตเช่นนี้ จึงเหลือเศรษฐกิจในประเทศเท่านั้นที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นให้กลับมาเข้มแข็ง

“ผมมองว่า 3 แนวทางที่จะเป็นแกนในการพัฒนาเศรษฐกิจ คือ 1.การสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง 2.การนำระบบดิจิทัลมาช่วยสร้างฐานข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย และ3.การสร้าง Regional Hub ให้มีความเข้มแข็ง”

นายสมคิดกล่าวว่า รัฐบาลต้องทำโครงการลักษณะนี้ไว้รองรับหลังจบโควิด-19 ตั้งเป้าหมายว่า เม็ดเงินในโครงการฟื้นฟูเกษตรกรดังกล่าว จะต้องลงไปท้องถิ่นในเดือนมิถุนายน 2563 โดยสัปดาห์หน้าคาดว่า จะนำเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรีได้

สำหรับการพัฒนาเกษตรกร ตามที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เสนอมาคือ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร, การสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจชุมชน และการสร้างความยั่งยืนเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งผู้จัดการสาขาของ ธ.ก.ส.ทั่วประเทศ จะต้องเป็นผู้จัดการโครงการในแต่ละเขตนั้นๆ

“การสนับสนุนภาคการเกษตร โดยเฉพาะที่เป็น Smart Farmer-เกษตรอัจฉริยะ ซึ่งถือว่าเป็นหัวขบวนของการพัฒนาภาคการเกษตร อาจต้องให้ ธ.ก.ส.ไปคิดว่า จะคิดดอกเบี้ยอย่างไร ไม่ใช่การคิดดอกเบี้ยต่ำ แต่เป็นแบบดอกเบี้ยติดลบ อาจเป็นในรูปของการสนับสนุนค่าปุ๋ย หรืออื่นๆ ก็ได้ เพราะถือว่า Smart farmer เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ สามารถจ้างงานได้เพิ่มขึ้นภาคการเกษตร โดยรัฐอาจต้องสนับสนุนหรือชดเชยดอกเบี้ยให้”

ส่วนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนกรอบวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาท จะต้องมีแผนที่ปฏิบัติได้ และมีขั้นตอนโดยเริ่มจากการนำคนมาฝึกอบรม ซึ่งจะให้เงินเป็นค่าจ้างอบรม เพื่อให้คนเหล่านั้นมีรายได้ และหลังจากอบรมแล้วจะตามมาด้วยการสนับสนุนสินเชื่อ และหาตลาดให้


สำหรับการหาตลาด ให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีปั๊มน้ำมันอยู่ทั่วประเทศ ช่วยขายสินค้าการเกษตร เช่น แทนที่จะเติมน้ำมันแล้วแถมน้ำดื่ม อาจเป็นการให้ผลไม้แทน ซึ่งอยากให้ ปตท. รีวิวมิชชั่นของ ปตท.ใหม่ โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง