น้ำมันดิบร่วงลดลงต่อเนื่อง เร่งรัฐปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ปรับลดลงมากสุดในรอบ 29 ปี นับตั้งแต่เกิดสงครามอ่าว (gulf war) จากเหตุผลสำคัญ 2 ประการ คือ กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันได้หันกลับมาเดินหน้าเพิ่มปริมาณการผลิตและเปิดฉากสงครามราคาน้ำมันกันอีกครั้ง นำโดย ซาอุดีอาระเบีย ที่ประกาศลดราคาขายน้ำมันดิบและเดินหน้าปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นสูงกว่าระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่รัสเซียก็คาดว่าจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันขึ้นเช่นกัน พร้อมกับสถานการณ์สงครามราคาน้ำมัน โลกก็เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมันลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโลกแทบจะหยุดการเดินทางโดยสิ้นเชิง

ราคาน้ำมันดิบล่าสุด ณ วันที่ 7 พฤษภาคม ปรากฏน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสตกลงมาอยู่ที่ระดับ 23.55 เหรียญ/บาร์เรล (-0.44), น้ำมันดิบเบรนต์อยู่ที่ 29.46 เหรียญ/บาร์เรล (-0.26) และน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 26.96 เหรียญ/บาร์เรล การปรับตัวที่ลดลงเป็นผลมาจากคาดการณ์ (บริษัท Rystad Energy) ความต้องการใช้น้ำมันในปี 2563 จะปรับตัวลดลงร้อยละ 10.9 หรือจาก 99.5 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 2562 ลดลงมาสู่ระดับ 88.7 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 2563 และยังคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้ในปี 2564 จะทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกันที่ระดับ 88.8 ล้านบาร์เรล/วันด้วย

โดยราคาน้ำมันดิบที่ “ต่ำกว่า” 30 เหรียญ/บาร์เรล ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระดับราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศ ได้ปรับลดลงมา “ต่ำกว่า” 20 บาท/ลิตร ในเกือบทุกประเภท (ยกเว้นเบนซินพรีเมี่ยม) ในขณะที่ความเป็นจริงราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ หน้าโรงกลั่นปัจจุบันนั้นแทบจะ “ต่ำกว่า” 10 บาท/ลิตร (ยกเว้น E85) ส่งผลโดยตรงต่อ “ค่าการกลั่น” ของโรงกลั่นน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 1.67 บาท/ลิตร ในขณะที่ “ค่าการตลาด” อยู่ในระดับ 1.7-2.3 บาท/ลิตร ตามชนิดของน้ำมันสำเร็จรูป

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาชนิดของน้ำมันสำเร็จรูปที่จำหน่ายผ่านสถานีบริการน้ำมันปัจจุบันกลับพบว่า มีความแตกต่างกันถึง 9 ชนิด และอาจจะเป็นความแตกต่างของชนิดน้ำมันสำเร็จรูปที่มากที่สุดในโลกก็ว่าได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้งผู้ประกอบการน้ำมันและรัฐบาลในแง่ที่ว่า ยังมีการ “อุดหนุน” ราคาขายปลีกน้ำมันที่เกินความจำเป็นในภาวะ “ขาลง” ของราคาน้ำมันดิบโลก

ขอลดชนิดน้ำมันลง

ความแปลกประหลาดของชนิดน้ำมันสำเร็จรูปที่มากมายของประเทศไทย สะท้อนผ่านความเห็นล่าสุดของ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถึงกับกล่าวว่า ปตท.ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วยการปรับลดชนิดน้ำมันสำเร็จรูปลงให้เหลือ 4-5 ชนิด โดยอยากให้เหลือเฉพาะ น้ำมันเบนซิน 95, แก๊สโซฮอล์ 95, แก๊สโซฮอล์ E20, ดีเซล B10 และดีเซลเกรดพิเศษ จากปัจจุบันที่มีชนิดน้ำมันมากถึง 9 ชนิด คือ เบนซิน 95, แก๊สโซฮอล์ 91, แก๊สโซฮอล์ 95, แก๊สโซฮอล์ E20, แก๊สโซฮอล์ E85, ดีเซล, ดีเซล B10, ดีเซล B20 และดีเซลเกรดพิเศษพรีเมี่ยม

“ข้อเสนอนี้ได้มาจากการหารือร่วมกับบริษัทผู้ค้าน้ำมัน และมีความเห็นตรงกันว่า รัฐบาลควรปรับลดชนิดน้ำมันลง เพื่อความเหมาะสมทั้งในด้านผู้ใช้บริการน้ำมัน และการบริหารจัดการสถานีบริการน้ำมัน รวมทั้งยังเป็นการลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการด้วย”

ความลักลั่นของราคาน้ำมัน

การมีน้ำมันถึง 9 ชนิด หมายถึง ราคาน้ำมันสำเร็ปรูปของประเทศไทยมีถึง 9 ชนิดราคา ตามไปด้วย โดยความแตกต่างของราคาน้ำมันแต่ละชนิดจะขึ้นอยู่กับกลไกในการบริหารจัดการ 2 อย่าง คือ 1) การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน กับ 2) การจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯที่ชอบอ้างกันว่า เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน ทว่าอีกด้านหนึ่งกลับกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการบิดเบือนราคาน้ำมัน ภายใต้นโยบายประชานิยมที่รัฐบาลหลายต่อหลายชุดในอดีตชอบใช้กัน

ยกตัวอย่าง ในกรณีของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 (น้ำมันเบนซิน 91 ผสมกับเอทานอล (ethanol) ในสัดส่วน 15% และ 85%) ซึ่งเกิดขึ้นตามนโยบายทางการเมืองสมัยหนึ่ง ได้ถูก“อุดหนุน” ราคาให้มีส่วนต่างจากน้ำมันปกติถึง 7 บาท/ลิตร ด้วยการ “ยกเว้น” การจัดเก็บภาษีสรรพสามิต (จัดเก็บแค่ 0.9750 บาท/ลิตร) และการนำเงินจากกองทุนน้ำมันฯเข้ามาอุดหนุน (-7.1300 บาท/ลิตร) ทั้ง ๆ ที่ E85 มีราคา ณ หน้าโรงกลั่นถึงลิตรละ 19.1366 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่าน้ำมันทุกชนิดที่เฉลี่ย 7-8 บาท/ลิตร

การอุดหนุนมากมายมโหฬารแบบนี้ทำไปใต้ความเชื่อที่ว่า จะสามารถ “จูงใจ” ให้ทั้งผู้ผลิตรถยนต์และผู้ใช้รถหันมาใช้รถยนต์-เติมน้ำมัน E85 แต่ในความเป็นจริงแล้วปรากฏ ยอดจำหน่ายน้ำมัน E85 ขายได้น้อยมาก เฉพาะปี 2562 เฉลี่ยขายได้วันละ 1.29 ล้านลิตร เทียบกับแก๊สโซฮอล์ 95 E10 ขายได้วันละ 14.08 ล้านลิตร โดยปรากฏการณ์อุดหนุนแบบนี้ ยังเกิดขึ้นกับน้ำมันดีเซล B20 ที่ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ (-4.1600 บาท/ลิตร) ยอดขายวันละ 4.47 ล้านลิตร/วัน กับดีเซล B10 ยอดขายวันละ 0.09 ล้านลิตร/วันด้วย

ยกเว้นภาษีไบโอดีเซล

ทว่าสถานการณ์ “ขาลง” ของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดการณ์ว่า จะต่อเนื่องยาวนานไปถึงปี 2564 ทำให้การอุดหนุนบิดเบือนกลไกราคาน้ำมันข้างต้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการต่อไป จากปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยชนิดต่าง ๆ นั้น “ใกล้กันเป็นอย่างมาก” ไม่ว่าจะเป็น แก๊สโซฮอล์ 95 E10 ราคา 18.35 บาท/ลิตร กับแก๊สโซฮอล์ 91 ราคา 18.08 บาท/ลิตร หรือดีเซล B10 ราคา 15.79 บาท/ลิตร กับดีเซล B20 15.54 บาท/ลิตร และล่าสุด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กำลังไปไกลกว่านั้นด้วยการทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขอให้รัฐบาลพิจารณา “ยกเว้น” การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล B10-B20 เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน

จนกลายเป็นข้อเสนอใหม่ในการใช้กลไกทางภาษีมาบิดเบือนราคาน้ำมันไบโอดีเซล เหมือน ๆ กับที่เกิดขึ้นกับแก๊สโซฮอล์ E85 นั่นเอง