“โควิด” ฉุดความเชื่อมั่นดิ่งเหว คลายล็อกดาวน์สะพัด 2 แสนล้าน

ดัชนีความเชื่อมั่นไทยติดลบในรอบเกือบ 22 ปี หลังโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก 2563 ติดลบ 10% เข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค ส่วนผลการคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 1 ช่วยเงินสะพัด 6-9 หมื่นล้าน ลุ้นเศรษฐกิจฟื้นไตรมาส 4

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน 2563 จากจำนวนตัวอย่างจากประชาชนทั่วประเทศ 2,241 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ระดับ 47.2 ลดลงจากเดือนมีนาคม 2563 ที่อยู่ในระดับ 50.3 ซึ่งติดลบต่อเนื่องต่ำสุดในรอบ 259 เดือน หรือ 21 ปี 7 เดือน

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 39.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ระดับ 46.0 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 56.4

โดยเป็นผลจากความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจ และรายได้โดยรวม และการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อบริหารจัดการและควบคุมสถานการณ์ ส่งผลให้เกิดการปิดกิจการ ยกเลิกการจ้างงาน มีแรงงานตกงาน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมทั้งมีการขยายระยะเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯออกไปอีก 1 เดือน

นอกจากนี้ ยังกังวลสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรและการหารายได้ของประชาชน ทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ มีผลต่อรายได้และกำลังซื้อ ส่วนปัจจัยบวกมีเพียงการใช้มาตรการเยียวยาจากผลกระทบโควิด-19 ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ การส่งออกเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง

นายธนวรรธน์กล่าวว่า คาดเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปี 2563 น่าจะ -8 ถึง -10% ซึ่งเป็นการเข้าสู่สภาวะถดถอยในเชิงเทคนิค โดยไตรมาส 2 น่าจะติดลบหนักที่สุด กระทบยาวถึงไตรมาส 3 และคาดว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวเป็นบวกได้ในไตรมาส 4 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะติดลบ 3 ถึงติดลบ 5 โดยเป็นผลมาจากการจับจ่ายใช้สอยชะลอตัว ซึ่งหากมีการรีสตาร์ตธุรกิจได้เร็ว จะช่วยชะลอการปลดคนงานได้ดีและจะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจมากจนเกินไป

สำหรับการคลายล็อกดาวน์รอบแรกจะทำให้เม็ดเงินหมุนกลับมาในประเทศ ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 60,000-90,000 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่การคลายล็อกดาวน์รอบ 2 ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ จะทำให้มีเงินเติมเข้ามาในระบบอีก 6,000-8,000 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อเดือน

“การรีสตาร์ตธุรกิจส่งผลต่อธุรกิจ การจับจ่ายใช้สอยในประเทศ มาตรการช่วยเหลือของรัฐ การกระตุ้นเศรษฐกิจทางด้านการลงทุน จะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เพราะจากปัญหาปัจจุบัน การล็อกดาวน์ทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบวันละ 10,000 ล้านบาท จากการชะลอจับจ่ายของประชาชนในทุกกลุ่มสินค้า การท่องเที่ยว สินค้าจำเป็น สินค้าฟุ่มเฟือย”


สำหรับแนวโน้มการปลดล็อกให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศเป็นสัญญาณที่น่าจะเกิดขึ้นได้ในไตรมาส 3 และถ้าสถานการณ์ของการปลอดเชื้อโควิด-19 ในเอเชีย และทั้งโลกดีขึ้น คาดว่าไตรมาส 4 นักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเริ่มกลับมา 6 ล้านคน หรือเดือนละประมาณ 2 ล้านคน ขึ้นอยู่กับมาตรการของรัฐ โดยจะทำให้การท่องเที่ยวไทยฟื้นเร็วขึ้น