ความเชื่อมั่นหอการค้าอยู่ที่ 32.1 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ คนตกงานคาดแค่3ล้านคน

หอการค้าเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าอยู่ที่ 32.1 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่คนตกงานคาดแค่ 3 ล้านคน น้อยกว่าที่คาดไว้ 7 ล้าน หลังรัฐรีสตาร์ตธุรกิจเร็ว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ระดับ 32.1 ถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ที่มีการสำรวจเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 หรือต่ำสุดในรอบ 28 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นลดลงทุกภาค โดยปัจจัยลบยังคงเป็นเรื่องของการระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีผู้ติดเชื้ออยู่อย่างต่อเนื่อง การใช้มาตรการล็อกดาวน์ การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การปิดกิจการบางประเภท รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร และปัญหาการว่างงานจากการปิดธุรกิจในบางประเภท

ขณะที่ปัจจัยบวกมาจากมาตรการรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ การส่งออกของไทยในเดือน มี.ค.63 เพิ่มขึ้น 4.17%

โดยดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทยที่ทรุดต่ำลงเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ซึ่งผู้ประกอบการ นักธุรกิจ ได้รับผลกระทบจากปิดกิจการ โดยเฉพาะภาคใต้ที่โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวหนักมากที่ทำให้นักท่องเที่ยวหายไป ราคาพืชทางการเกษตรที่ลดลงทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน จนทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นลดต่ำกว่าระดับ 30 เป็นครั้งแรก

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด แต่ตามหลักวิชาการการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เงินเฟ้อต้องติดลบ 6 เดือนติดต่อกัน แต่ปัจจุบันติดลบไปแล้ว 2 เดือนติดต่อต่อ เหลืออีก 4 เดือน ซึ่งก็มีโอกาสที่จะติดลบต่อเนื่อง จนทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ในปีนี้ เนื่องจากประชาชนไม่มีกำลังซื้อ จากผลกระทบการปิดธุรกิจทำให้มีการเลิกจ้าง แต่สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วโลก มั่นใจว่า ปีหน้าภาวะดังกล่าวจะหายไปเนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวในทิศทางทางที่ดีที่คาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์ฯ ประเมินว่าผลกระทบการระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้มีผู้ว่างงานจากการถูกเลิกจ้างเพียง 3 ล้านคน ต่ำกว่าที่คณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินไว้ที่ 7 ล้านคน เนื่องจากรัฐบาลควบคุมการระบาดไวรัสได้ดีและสามารถรีสตาร์ตธุรกิจได้เร็วกว่ากำหนด จึงส่งผลให้ภาคธุรกิจเริ่มดำเนินกิจการและมีรายได้เสริมสภาพคล่องได้ทันเวลา

ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้และสามารถประคองการจ้างงานได้ดีขึ้น คือ การผ่อนปรนการเปิดกิจการ เพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงักไปมากกว่านี้ การผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งยังถือว่าช้ามากในการจ่ายเงิน หากเปรียบเทียบประเทศอื่นที่ส่วนใหญ่จ่ายเงินเยียวยาหมดทุกครัวเรือนหรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบชัดเจน ซึ่งต่างจากไทยที่ยังมีการคัดกรอง ส่งผลให้ประชาชนที่ยังไม่ได้รับเงินประสบปัญหาเดือดร้อนจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการรองรับธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อนถึงขั้นต้องปิดกิจการลงชั่วคราว ทำให้ต้องปลดพนักงาน และหากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจทำให้ต้องปิดกิจการ โดยต้องการให้ธนาคารผ่อนคลายเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี สามารถกู้เงินเพื่อมาจัดการสภาพคล่องทางการเงิน และจ้างงานได้ต่อไป

“ผลของการจ่ายเงินเยียวยาที่ล่าช้านั้น เดิมถือเป็นมาตรการที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจ แต่ขณะนี้กลับกลายเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้ว เพราะเงินเยียวยาที่ถึงมือประขาชนจะใกล้เคียงกับที่รัฐบาลรีสตาร์ตธุกิจจนเกิดการจับจ่ายใช้สอยกันอย่างคึกคัก ซึ่งหากวันที่ 17 พ.ค. มีการรีสตาร์ตในเฟส 2 ก็จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่หากไม่สามารถรีสตาร์ตเฟส 2 ได้ตามกำหนดก็จะมีผลต่อการจ้างงานเช่นกัน”