
เมื่อเดือนเมษายน 2563 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ภาคอุตสาหกรรมขึ้น โดยดึงรองประธานมาเป็นแม่ทัพในการทำงาน 7 ด้าน ประกอบไปด้วย คณะอนุกรรมการมาตรการภาษีและการเงิน คณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน คณะอนุกรรมการมาตรการโลจิสติกส์ คณะอนุกรรมการป้องกันการระบาด COVID-19 คณะอนุกรรมการสนับสนุนสมาชิก คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูหลัง COVID-19 ซึ่งทุกคณะได้เริ่มขับเคลื่อนแผนการทำงานแล้ว
“นายกรกฤช จุฬางกูร” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุดได้มีการแต่งตั้งเพิ่มอีก 2 คณะ คือ คณะอนุกรรมการ e-Commerce และคณะอนุกรรมการ F.T.I. Academy รวมเป็น 9 คณะ
โดยคณะอนุกรรมการ e-Commerce มี นายศักดิ์ณรงค์ แสงสง่าพงษ์ เป็นประธาน ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิด platform ค้าขาย e-Commerce รวมทั้งส่งเสริม ecosystem ในการค้าขายผ่านทาง e-Commerce ให้กับ SMEs พร้อมจัดทำแผนงานและดำเนินการช่วยเหลือสมาชิกในการจำหน่ายสินค้าผ่านe-Commerce เนื่องจากเป็นช่องทางสำคัญ มีอัตราการเติบโตที่สูงมาก ที่จะเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจในอนาคตของ SMEs ให้ค้าขายออนไลน์เป็นขณะที่คณะอนุกรรมการ F.T.I. Academy มีนายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช เป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดกรอบแนวทาง และทิศทางการดำเนินงาน F.T.I. Academy ของ ส.อ.ท. 4 ภารกิจสำคัญ คือ
1.รวบรวมประเด็นปัญหาในการเตรียมความพร้อม และพัฒนายกระดับศักยภาพของแรงงาน และผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ในสภาวะที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
2.กำหนดกลยุทธ์ เป้าหมาย แผนงานและรูปแบบการดำเนินการ ในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อเตรียมความพร้อมและพัฒนา ยกระดับทักษะและศักยภาพแรงงาน รวมถึงพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถฟื้นฟู และหรือต่อยอดธุรกิจ ที่ตอบสนองต่อตลาด new trend ในอนาคต เช่น การเรียนออนไลน์ในช่วงที่มีการว่างงาน เป็นต้น เมื่ออุตสาหกรรมกลับบุคลากรจะได้เดินหน้าได้ทันที
3.ประสานและร่วมงานกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ในการยกระดับ (upskill) พัฒนาทักษะใหม่ (reskill) ให้กับแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
4.ศึกษาและจัดทำข้อเสนอ มาตรการสนับสนุน และรูปแบบการดำเนินการ เพื่อเสนอต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายกรกฤชกล่าวว่า คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ขณะนี้ได้วางกรอบการทำงานและร่วมประชุมกับคณะทำงานแล้ว 3-4 ครั้ง ซึ่งมีทั้งหมด 20 ท่าน โดยเริ่มรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ทั้งมาตรการต่าง ๆ ของ ส.อ.ท. และภาครัฐที่ประกาศออกมาแล้วและที่เตรียมเสนอ เผยแพร่ไปยังสมาชิก สภาอุตสาหกรรมจังหวัด กลุ่มอุตสาหกรรม และสื่อมวลชนให้รับทราบโดยเร็วและทั่วถึง รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ใช้ช่องทางหลักในการเผยแพร่ทั้ง Line Facebook Website e-Mail Twitter YouTube Microsite
นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานทั้งหมดของทุกคณะอนุกรรมการ จะถูกรวบรวมและสื่อสารให้กับสมาชิกได้รับรู้ เช่น มุมมองของผู้บริหารบริษัทเอกชนทั้งรายเล็ก รายใหญ่ เจาะลึกรายอุตสาหกรรม ถึงแนวทางการปฏิบัติอย่างไรให้รับมือได้กับสถานการณ์เช่นนี้ การปรับตัวของผู้ประกอบการ เพื่อให้เป็นต้นแบบและแนวทางกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ
“สิ่งที่ทาง ส.อ.ท.ดำเนินการมาตลอดคือ การคุยกับภาครัฐ ผลักดันเรื่องมาตรการทางภาษี การเงิน การดูแลแรงงานที่เราพยายามรักษาเขาไว้ ส่วนรัฐเองแม้จะมีการเยียวยาออกมา แต่แค่ 3 เดือนยังไม่พอ เราก็ต้องเข้าไปช่วยผลักดันอีก จะขยายไปเป็นกี่เดือนนั้นต้องรอดูสถานการณ์ก่อน ประเมินจาก 3 เดือนนี้ จากนั้นค่อยมาว่ากันจะขยายเป็นเท่าไรถึงจะเหมาะสม”