โควิดหนุนค้าออนไลน์กระฉูด 6 หมื่นรายแห่ขอรับ “DBDRegistered”

แห่ขอรับรองเครื่องหมาย DBD Registered ยอด 4 เดือน ทะลุ 61,788 ราย “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” หนุนผู้ประกอบการปรับตัวรับพฤติกรรมผู้บริโภคช่วงโควิด-19 ตลาดออนไลน์โตพร้อมย้ำจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้อง สร้างความน่าเชื่อถือธุรกิจได้

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อยไม่สามารถประกอบกิจการหน้าร้านได้อย่างปกติ ประกอบกับผู้บริโภคและตลาดเริ่มหันมาสนใจทำการค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น โดยทำการซื้อ-ขายผ่านแพลตฟอร์มรายใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านเว็บไซต์ของตนเอง ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ไอจี เพื่อตอบสนองความต้องการและเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์นี้ทำให้ผู้บริโภคเลี่ยงการเดินทางออกจากบ้าน เพื่อหยุดการแพร่ระบาดจึงหันมาซื้อสินค้าโดยใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ เป็นช่องทางสำคัญในการ กระจายสินค้า ซื้อ-ขายสินค้า

ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดให้ผู้ประกอบการยื่นขอรับเครื่องหมาย DBD Registered ได้ผ่านช่องทาง www.trustmarkthai.com โดยเมื่อกรอกข้อมูลผ่านระบบเรียบร้อย ระบบจะดำเนินการจัดส่งเครื่องหมาย DBD Regis-tered ให้ผู้ขอรับเครื่องหมาย เพื่อนำไปแปะบนหน้าเว็บไซต์ หรือช่องทางการขายออนไลน์ของผู้ประกอบการเอง

“เบื้องต้นกรมได้ทำหนังสือถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และเจ้าของแพลตฟอร์ม เช่น Shopee, Lazada, JD Central ฯลฯ เพื่อกระตุ้นให้เจ้าของแพลตฟอร์มเชิญชวนผู้ประกอบการในระบบ เข้ามาดำเนินการขอรับเครื่องหมาย DBD Registered และจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้อง หากผู้ประกอบการที่ขายสินค้าในช่องทางออนไลน์ เข้ามาขอรับเครื่องหมาย DBD Registered จะช่วยรับรองการมีตัวตนและร้านค้าจริง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ซื้อ-ผู้ขายเองว่าดำเนินกิจการขายสินค้าจริง กระตุ้นยอดขายและสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าเข้ามาใช้บริการและซื้อสินค้า ทั้งยังเป็นการยกระดับธุรกิจอีคอมเมิร์ซของประเทศให้มีศักยภาพเทียบเท่าระดับสากล และสามารถขยายตลาดอีคอมเมิร์ซสู่ตลาดต่างประเทศได้ในอนาคต”

พร้อมกันนี้ ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซควรดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้องตามกฎหมายควบคู่กันไปด้วย เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยการเข้าขอจดทะเบียนพาณิชย์ได้ตามสถานที่ตั้งของผู้ประกอบการเอง

โดยหากสถานประกอบการตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่สำนักงานเขต หรือสำนักงานเศรษฐกิจการคลังของกรุงเทพมหานคร หากสถานที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยมีค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเพียง 50 บาทเท่านั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการว่าดำเนินกิจการจริง

ล่าสุดจนถึงวันที่ 7 พฤษภาม 2563 มีผู้ประกอบการเข้ามาขอเครื่องหมาย DBD Registered แล้ว 61,788 ราย และมีผู้จดทะเบียนพาณิชย์แล้ว 49,381 ราย

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า สถิติเรื่องร้องเรียนเรื่องของปัญหาในระบบออนไลน์ ในปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 29,626 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 2,469 ครั้ง ส่วนในปี 2562 จำนวนทั้งสิ้น 42,947 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 3,579 ครั้ง และปี 2563 (มกราคม- มีนาคม) จำนวนทั้งสิ้น 9,613 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ3,204 ครั้ง โดยส่วนใหญ่ร้องเรียนเรื่อง 1.เว็บไซต์ผิดกฎหมาย 2.การซื้อขายทางออนไลน์ และ 3.ปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ ขณะที่


สถิติการร้องเรียนเรื่องของการซื้อขายทางออนไลน์ ปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 17,558 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 1,463 ครั้ง ส่วนในปี 2562 จำนวนทั้งสิ้น 21,148 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 1,762 ครั้งและในปี 2563 (มกราคม-มีนาคม) จำนวน 4,786 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 1,595 ครั้ง ส่วนใหญ่ร้องเรียนเรื่อง 1.ไม่ได้รับสินค้า (หลอกลวง) 2.ได้รับสินค้าไม่ตรงตามข้อตกลง (ผิดสี ผิดขนาด) ไม่ได้รับตามโฆษณา 3.ได้รับสินค้าชำรุด 4.ได้รับสินค้าผิดกฎหมาย (สินค้าปลอม) และ 5.ได้รับสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด