“โรงไฟฟ้าชุมชน” เจอโรคเลื่อน

โรงไฟฟ้าชุมชนเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เร่งรัดกระตุ้นลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในชุมชน สร้างไฟฟ้าเพื่อคนในชุมชน แต่เดิมกำหนดจะเปิดหลักเกณฑ์ประกาศให้เอกชนเข้าร่วมเสนอขายไฟฟ้าในเดือนมีนาคมที่ต้องเลื่อนออกมาเรื่อย ๆ ด้วยโจทย์หินที่ต้องเผชิญทั้งจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างชะงัก กระทั่งอาจต้องรื้อแผนหลายนโยบายให้เชื่อมโยงและให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์โลก

รอผลประชาพิจารณ์-พีดีพี 2018

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยอมรับว่าผลการรับฟังความคิดเห็น หรือประชาพิจารณ์ หลักเกณฑ์การคัดเลือกโครงการโรงไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ (MW) ต้องเลื่อนมานานกว่า 2 เดือน เป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ได้พยายามเร่งรัดผลักดันให้เกิดการลงทุนประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเงินหมุนเวียนในระดับเศรษฐกิจฐานรากกว่าแสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการดำเนินการโครงการนี้เพื่อให้ได้ไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ ที่จะเริ่มดำเนินการได้ก่อนตามแผน ระหว่างปี 2563-2564 ได้แบ่งเป็นโครงการ Quick Win จำนวน 100 เมกะวัตต์ และอีก 600 เมกะวัตต์ เปิดคัดเลือกทั่วไป โดยยังคงมี 4 โครงการนำร่องได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำร่อง 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ จากหญ้าเนเปียร์ ที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ กำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวมวล จากซังข้าวโพด อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กำลังการผลิต 2 เมกะวัตต์

ส่วนอีก 2 โครงการ มอบหมายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นผู้ดำเนินการอยู่ที่ จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส กำลังการผลิตรวม 6 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งหมดนี้ “รัฐมนตรีสนธิรัตน์” ยืนยันว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายใน 12 เดือนนับจากวันลงนามสัญญา


เอกชนติงแก้ระเบียบรูปแบบไม่ชัด

ขณะที่รายละเอียดที่เคยประชาพิจารณ์ไปก่อนหน้านี้ ว่าจะกำหนดส่วนรูปแบบการร่วมทุน ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนอาจร่วมกับองค์กรของรัฐ) สัดส่วนประมาณร้อยละ 60-90

และ (2) กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) สัดส่วนประมาณร้อยละ 10-40 และต้องมีส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ให้กับกองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้านั้น ๆ

โดยมีอัตราส่วนแบ่งรายได้ (1) สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ไม่ต่ำกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย

(2) สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ hybrid และเงื่อนไขอีกมากและผู้เสนอโครงการต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิง โดยมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน ในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (contract farming) ซึ่งในสัญญาจะต้องมีการระบุข้อมูลปริมาณการรับซื้อเชื้อเพลิง ระยะเวลาการรับซื้อเชื้อเพลิง คุณสมบัติของเชื้อเพลิงและราคารับซื้อเชื้อเพลิงไว้ในสัญญาด้วย

“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่มากของกระทรวงรายละเอียดต่าง ๆ มีข้อถกเถียงให้ต้องกลับไปแก้ไขใหม่ และต้องฟังเสียงสะท้อนจากภาคประชาชน อย่าลืมว่าโครงการนี้หินมาก สำหรับผู้ประกอบการแต่เราจะเร่งรัดให้เกิดเร็วที่สุด มั่นใจว่าต้น มิ.ย.ประกาศแน่นอน” นายสนธิรัตน์กล่าว

เสี่ยง “รื้อแผน”

ดังนั้น ความหวังที่ให้การจัดรายละเอียดเงื่อนไขการลงทุน (TOR) ให้เอกชนยื่นข้อเสนอและคัดเลือกเอกชนในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 63 เพื่อประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกภายในเดือน พ.ค. ยังต้อง “รอ” ต่อไป เนื่องจากยังมีบางอย่าง ที่ต้องแก้ไขในแง่กระบวนการ ทางระเบียบ และวิธีปฏิบัติ

และหากสรุปได้แล้วก็ต้องเสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และที่สำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับ “แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ” หรือ PDP 2018 ที่ดูเหมือนว่า ยังคงกำลังผลิตไฟฟ้าจนถึงสิ้นปี 2580 เท่าเดิมที่ 77,211 เมกะวัตต์ มีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เข้าระบบ 56,431 เมกะวัตต์ จะมีการรับซื้อโรงไฟฟ้าใหม่หรือทดแทนที่จะเป็นโรงไฟฟ้า IPP ลดลง จาก 8,300 เมกะวัตต์ เหลือ 6,900 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินอาจจะลดลงจาก 1,740 เมกะวัตต์ เหลือ 1,200 เมกะวัตต์ ซึ่งการคาดการณ์การใช้พลังงานดังกล่าว “ยังไม่นิ่ง” อาจปรับมีการแก้ไขไปถึงขั้น “รื้อ” แผน ก็เป็นไปได้ นับเป็นก้าวย่างที่น่าติดตาม