โรงสกัดรับมือ “ปาล์มทะลัก” วิกฤตโควิด-19 ทุบดีมานด์ร่วง

สัมภาษณ์

เปิดศักราชใหม่มาไม่นาน ไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมทางการค้า การประกอบธุรกิจเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการจับจ่ายซื้อสินค้า การบริโภค การท่องเที่ยว เชื่อมโยงถึงความต้องการใช้น้ำมันปาล์ม ทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับทั้งอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมพลังงานต้องรับแรงสั่นสะเทือนไปด้วย โดยเฉพาะนโยบายรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมให้น้ำมันไบโอดีเซล บี 10 และบี 20 เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศ ส่งผลต่อดีมานด์-ซัพพลาย รวมถึงราคาน้ำมันปาล์มอย่างเลี่ยงไม่ได้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “กฤษดา ชวนะนันท์” นายกสมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย คนใหม่ที่เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อต้นปี 2563

ผลผลิตปาล์ม 17.8 ล้านตัน

การคาดการณ์สถานการณ์ผลผลิตปาล์มทั้งปี 2563 โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ที่ 17.8 ล้านตัน โดยประเมินว่าครึ่งปีแรกผลผลิตจะออกสู่ตลาดปริมาณ 48% ส่วนครึ่งปีหลังผลผลิตปาล์มน้ำมันจะออกสู่ตลาดปริมาณ 52% แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปริมาณผลผลิตออกมาไม่ได้ตามที่คาดการณ์ไว้ โดย 3 เดือนแรกออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ปริมาณ 16% ทั้งนี้ จึงอาจจะต้องประเมินคาดการณ์ผลผลิตใหม่อีกครั้ง ต้องยอมรับว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันเป็นสินค้าเกษตรที่ออกสู่ตลาดตลอดเวลา และสามารถเก็บเกี่ยวได้ทั้งปี โดยจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะมีผลต่อราคาและปริมาณการรับซื้อ และความต้องการบริโภคด้วย

ขณะที่สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบจากปลายปี 2562 ที่รับรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมี 400,000 ตัน เมื่อเดือนมกราคม 2563 ปริมาณ 220,000 ตัน และปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบก็ปรับขึ้น-ลงตามความต้องการบริโภคทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ปัจจุบันในเดือนมีนาคม 2563 ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบเฉลี่ย 180,000-190,000 ตัน หากผลผลิตเพิ่มคาดว่าปริมาณน้ำมันปาล์มดิบจะปรับขึ้นประมาณ 70,000 ตัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบในสต๊อกเฉลี่ยที่ 250,000 ตัน

ใช้ผลิตพลังงานต่ำกว่าคาด

เบื้องต้นคาดการณ์ความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มดิบในปี 2563 ไว้ว่า ความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มดิบกลุ่มพลังงานเฉลี่ยที่ 150,000 ตันต่อเดือน แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเฉลี่ยความต้องการใช้อยู่ที่ 110,000-120,000 ตันต่อเดือน ขณะที่การคาดการณ์ความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มดิบกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การผลิตน้ำมันปาล์มขวด การใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเฉลี่ยที่ 100,000 ตันต่อเดือน แต่ความต้องการใช้จริงเฉลี่ยที่ 70,000 ตันต่อเดือน

โควิดฉุดดีมานด์

โดยจะเห็นว่าปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มดิบลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ เมื่อแต่ละประเทศออกมาตรการคุมเข้มในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส ทำให้มีการปิดประเทศ ห้ามเดินทางเข้า-ออก โดยเฉพาะระหว่างประเทศ ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวลดลงและหยุดให้บริการในหลายกลุ่ม โดยเฉพาะภาคการขนส่งที่ใช้น้ำมันดีเซลและไบโอดีเซล โดยใช้วัตถุดิบน้ำมันปาล์มเป็นส่วนผสม ดังนั้นทำให้ปริมาณความต้องการลดลงในทันที เพราะที่ใช้น้ำมันดีเซล บี 10 บี 20 หยุดให้บริการเดินรถซึ่งปัจจุบันพบว่าหยุดบริการเดินรถไปกว่า 1,000 คัน ซึ่งส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงเช่นกัน ขณะที่กลุ่มบริโภคลดปริมาณการซื้อลงไปด้วย เมื่อโรงแรม ร้านอาหาร ที่ใช้น้ำมันปาล์มในการประกอบอาหาร ลดความต้องการลงอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว

ความต้องการบริโภคก็ลดลงตาม อย่างไรก็ดี ต้องติดตามสถานการณ์การบริโภคน้ำมันปาล์มดิบหลังจากที่ภาครัฐเริ่มมีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น เพราะจะมีผลต่อปริมาณความต้องการและราคาในการรับซื้อปาล์มน้ำมัน

ราคารับซื้อไม่ถึง 4 บาท

ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ขณะนี้ยังไม่ถึงช่วงมิถุนายนที่ผลปาล์มจะออกราคาจึงเฉลี่ยที่ 18-21 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้น-ลงตามปริมาณและความต้องการน้ำมันปาล์มดิบในตลาด เช่นเดียวกับราคาผลปาล์มที่ปัจจุบันปรับขึ้นเฉลี่ยที่ 3-3.40 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์ม คุณภาพ และผลปาล์มที่ตัดมาขาย และขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่ในการรับซื้อด้วย

กฟผ.ซื้อ CPO ผลิตไฟฟ้า

ส่วนการเปิดรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบของกระทรวงพลังงาน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำหรับใช้ผลิตไฟฟ้า คาดว่าจะรับซื้ออีก 30,000 ตัน จะครบปริมาณ 100,000 ตัน อย่างไรก็ดี ปริมาณดังกล่าวนั้นต้องติดตามประกาศอีกครั้งว่ารายละเอียดในการเข้าประมูลเพื่อขายน้ำมันปาล์มดิบเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร เพราะจากสถานการณ์ด้านราคาเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบขณะนี้เริ่มขยับขึ้น จากก่อนหน้านี้ช่วงที่เปิดประมูลรับซื้อนั้นตั้งราคารับซื้อไว้ที่ 17.50 บาทต่อกิโลกรัม โดยหากจะตั้งราคาต้องเป็นราคากลไกตลาดในปัจจุบันด้วย