ดัชนีความเชื่อมั่นตกต่ำสุดขีดในรอบ11ปี หวังคลายล็อกดันเศรษฐกิจขยับ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. 2563 อยู่ที่ระดับ 75.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 88.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2552 เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรคระบาดของภาครัฐ

ทั้งนี้ ส่งผลให้การใช้จ่ายและการบริโภคลดลง โดยเฉพาะสินค้าคงทน ผู้ประกอบการบางรายจึงชะลอการผลิต การลงทุน และลดการจ้างงาน จนประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจากขาดเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประกอบกับปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อรายได้และกำลังซื้อในภาคเกษตร

“ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนนี้จะลดลงมากอยู่แล้ว เพราะเป็นเดือนที่มีการล็อกดาวน์ทั้งเดือน แต่ยอมรับว่าดัชนีฯ เดือน เม.ย. ลดลงมากจนน่าใจหายเกือบ 13 จุด อยู่ที่ระดับ 75.9 ต่ำสุดในรอบ 11 ปี ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และยังเป็นการลดลงต่ำสุดในผู้ประกอบการทุกขนาดกิจการ จึงหวังว่าเดือน พ.ค. จะปรับตัวดีขึ้นหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศเริ่มคลี่คลาย”

โดยผู้ประกอบการ 69.5% ยังมีความกังวลมากเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้คำสั่งซื้อต่างประเทศลดลง ทำให้ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 88.8 ลดลงจากครั้งก่อนอยู่ที่ 96.0 ต่ำสุดตั้งแต่เดือน พ.ค.2552

เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวล ต่อการประกอบกิจการในอนาคตที่มีความไม่แน่นอนสูง จากปัญหาเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง ภายหลังจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงขึ้นและขยายวงกว้างไปทั่วโลก ซึ่งยังไม่มีความแน่ชัดว่าวิกฤตโควิด-19 จะสิ้นสุดเมื่อใด


สำหรับแนวโน้มการปิดกิจการนั้น มีคณะกรรมการโควิด-19 พิจารณามาตรการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสินเชื่อ ที่เป็นปัญหาหลักของผู้ประกอบการ เพื่อช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ (20 พ.ค.2563) เห็นว่าควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.75% มาอยู่ที่ 0.25% เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว หรืออย่างน้อยก็ช่วยให้ภาคเอกชนกลับมาสู่กระบวนการผลิตในต้นทุนที่ถูกลง ลดค่าใช้จ่ายได้ในภาวะวิกฤตที่ค่อนข้างจะยืดยาวและไม่รู้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร