ข้าราชการ กลุ่มไหนได้-ไม่ได้ “เงินเยียวยาเกษตรกร” 5 พันบาท

เยียวยาเกษตรกร

หมายเหตุ: ล่าสุด ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงแล้วว่า ข้าราชการ ประมาณ 9.1 หมื่นคน ที่ประกอบอาชีพเสริมทำการเกษตร นั้นไม่สามารถได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ หลังจากมีกระแสคำถามเกี่ยวกับการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรให้กับกลุ่มข้าราชการที่ประกอบอาชีพทางการเกษตรด้วย ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ (กษ.) ได้ออกมาชี้แจงเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยาสำหรับข้าราชการ

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ ระบุว่า ข้าราชการ​บำนาญที่ทำอาชีพเกษตรกรร่วมด้วย “จะไม่ได้รับการเยียวยา” ตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร แต่สามารถยื่นอุทธรณ์​ได้

“ส่วนประเด็นที่ข้าราชการ​บำนาญไปทำเกษตรกรสามารถรับสิทธิ์​เยียวยาได้หรือไม่นั้น ในระบบของประกันสังคม และระบบบำเน็จบำนาญ หรือเกษตรกรที่มีสิทธิ์​ประกันสังคม ในกรณีเหล่านี้จะไม่ได้รับการเยียวยา แต่สามารถยื่นอุทธรณ์​ได้ แต่ต้องมีการพิจารณา​ตามความเหมาะสม เนื่องจากรัฐบาลมีงบประมาณจำกัด ส่วนในกรณีที่เป็นข้าราชการประจำ แต่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรมีหลักฐานยืนยันชัดเจน กรณีนี้สามารถรับการช่วยเหลือเยียวยาได้” นายอลงกรณ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ต่อมาในวันที่ 22 พฤษภาคม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ชี้แจงว่า ข้าราชการประจำปัจจุบันจะไม่ได้รับเงินเยียวยาในส่วนนี้ เนื่องจากยังคงได้รับเงินเดือนตามตำแหน่ง

ก่อนหน้านี้ กระทรวงเกษตรฯ เคยชี้แจงว่าข้าราชการประจำจะยังไม่ถูกตัดสิทธิ์ เนื่องจากไม่มีหลักเกณฑ์ที่กำหนดห้ามไว้ และะเป็นอำนาจตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่กระทรวงเกษตรฯ ยังไม่ได้เสนอวาระดังกล่าวให้ ครม. พิจารณาในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า ข้าราชการประจำที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรมีจำนวนทั้งสิ้นราว 9.1 หมื่นราย และหากทั้งหมดได้รับเงินเยียวยา 3 เดือน เดือนละ 5,000 บาท ก็จะต้องใช้วงเงินทั้งสิ้นราว 1.36 พันล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า เกษตรกรกลุ่มแรกที่ผ่านการตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับมาตรการอื่นแล้วกว่า 6.7 ล้านราย ได้ถูกส่งรายชื่อต่อไปให้ทาง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อโอนเงินตั้งแต่วันที่ 15-25 พฤษภาคม 2563