“ประวิตร”สั่งรับมือฤดูฝน เก็บผักตบเปิดทางกักน้ำ

เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ “ประวิตร” สั่งเพิ่มเก็บกักน้ำ เตรียมลงพื้นที่ จ.นครปฐม 20 พ.ค.นี้ ตรวจสอบประสิทธิภาพการกำจัดผักตบชวาปิดทางน้ำ เร่งมือกำจัดผักตบชวา 2.8 แสนตันให้จบทัน มิ.ย. 63

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่าไทยสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. 2563 ส่งผลให้เกิดฝนตกมากขึ้นนับจากสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานเพิ่มประสิทธิภาพในการกักน้ำ และในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้จะลงพื้นที่ติดตามแผนงานการกำจัดผักตบชวา สิ่งกีดขวางทางน้ำในแม่น้ำท่าจีน จ.นครปฐม เพื่อรองรับน้ำหลากที่อาจจะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามที่ประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการครั้งที่ 2/2563 ได้พิจารณากำหนดมาตรการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับฤดูฝนปี 2563 ใน 8 ด้าน ประกอบด้วย

1.การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย

2.การปรับแผนการเพาะปลูกพืช ในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา 13 แห่ง ซึ่งพื้นที่ทุ่งบางระกำ สามารถเพาะปลูกได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 63 ให้เก็บเกี่ยวได้ก่อนฤดูน้ำหลาก เพื่อนำมาใช้เป็นพื้นที่สำหรับหน่วงน้ำ ส่วนอีก 12 แห่ง เกษตรกรสามารถเริ่มเพาะปลูกได้แล้วโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก

3. จัดทำเกณฑ์บริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝน

4.เร่งตรวจสอบอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร ให้พร้อมใช้งานโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วม น้ำล้นตลิ่ง

5.เร่งรัดหน่วยงานตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 189 แห่งจากทั้งหมด 625 แห่ง

6.การขุดลอก กำจัดผักตบชวา ซึ่งตั้งแต่ตุลาคม 2562 ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 2 ล้านตัน ตามภาพถ่ายดาวเทียมของจิสด้าพบว่ามี 128 จุด รวมพื้นที่ 3,574 ไร่ ปริมาณ 285,920 ตัน จะเร่งดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้

7.การเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือให้ความช่วยเหลือ 8.การประชาสัมพันธ์

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการวางแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกฤดูฝน ปี”63 (1 พ.ค.-31 ต.ค. 63) โดยปริมาณน้ำต้นทุนฤดูฝน ณ วันที่ 1 พ.ค. 63 มีทั้งสิ้น 37,433 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ประเมินความต้องการใช้น้ำ รวม 83,085 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น

1) อุปโภคบริโภค 3,653 ล้าน ลบ.ม.

2) รักษาระบบนิเวศ 11,496 ล้าน ลบ.ม.

3) เกษตรกรรม 67,166 ล้าน ลบ.ม.

แผนการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 76.271 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 27.61 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 48.66 ล้านไร่ และ 4) อุตสาหกรรม 770 ล้าน ลบ.ม. โดยที่เหลือต้องอาศัยน้ำฝนอีกประมาณ 63,372 ล้าน ลบ.ม. คาดปีนี้จะมีพายุ 2 ลูก ช่วงหน้าฝน

หลังจากนี้จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมชลประทาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อเตรียมจัดสรรน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรน้ำ การเพาะปลูกฤดูฝน เสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะรัฐมนตรีต่อไป