พาชม “ศูนย์ซ่อมอากาศยาน MRO ไทย” ให้กองทัพไทย มูลค่า 5,000 ล้าน

บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด หรือ TAI ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2547 โดยมีวัตถุประสงค์การจัดตั้งที่สำคัญ คือ เพื่อดำเนินกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO ให้แก่ส่วนราชการต่างๆ และต้องเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานมาตรฐานสากล

มีสถานะเป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัดที่เป็นเอกชน ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท และได้รับการรับรองเป็นหน่วยซ่อมมาตรฐาน จากกรมการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม

พลอากาศเอก ศิริพล ศิริทรัพย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทอุตสาหกรรมการบิน กล่าวว่า ปัจจุบัน TAI ยังคงมีการจัดซื้ออุปกรณ์ซ่อมบำรุงส่วนใหญ่จากต่างประเทศ เนื่องจากชิ้นส่วนต่างๆ จะต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานรับรองด้านอากาศยาน ดังนั้นมูลค่าการซ่อมแซมที่เกิดขึ้นที่สูงถึง 5,000 ล้านบาท หากในอนาคตผู้ประกอบการไทย สามารถเข้าสู่กระบวนการตรงจรับรองได้แล้ว จะเริ่มป้อนให้กับทาง กองทัพอากาศ เพื่อใช้ซ่อมบำรุงเครื่อบบิน ซึ่งจะสามารถลดการนำเข้าได้ถึง 2,000 ล้านบาท ในระยะแรก และเป้าหมายในอนาคต TAI จะก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เช่น ปีกเครื่องบิน โดรน ซึ่งตะทำให้สถานะของ TAI เป็น “ผู้ผลิตชิ้นส่วนและศูนย์ซ่อมอากาศยานไทย” รายใหญ่ของประเทศ

ปัจจุบัน TAI มีทั้งหมด 4 แห่ง ประกอบด้วย ลพบุรี ที่เน้นการซ่อมเฮลิคอปเตอร์, อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ซ่อมบำรุงเครื่องบินลำเลียง เช่น C 130 ของกองทัพอากาศ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 12 ลำ อยู่ระหว่างการตรวจบำรุงประจำทุกๆ 3 ปี จำนวน 4 ลำ แต่ละลำใช้งบประมาณซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ประมาณ 50 ล้านบาท อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ซ่อมเครื่องบินฝึก และที่ดอนเมือง กรุงเทพฯ ซ่อมบำรุงเครื่องบินของกองทัพอากาศ รวมถึงของนกแอร์ แอร์เอเชีย

ทั้งนี้ TAI ไม่เพียงซ่อมบำรุง แต่ยังมีแผนกหน้าที่ในการปรับปรุงหน้าจอควบคุม แผงวงจรเครื่องบิน จากระบบอนาล็อก เป็นระบบดิจิทัล ด้วยเช่นกัน และแน่นอนว่าปัจจุบัน SMEs ไทย สามารถผลิตชิ้นส่วนซ่อมบำรุงอากาศยานได้เอง แต่ที่ยังไม่สามารถนำม่ใช้ในการซ่อมได้แม้ว่ามีมาตรฐานสากลแล้วก็ตาม แต่เพราะยังไม่มีหน่วยงานรับรอง และข่าวดีล่าสุด ทาง กองทัพอากาศ เตรียมตั้งหน่วยงานรับรองและยอมรับ (MAA) นี้ขึ้นมา และเตรียมให้ทาง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงกับ สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (THAI SUBCON) เพื่อให้ผู้ผลิตที่เป็น SMEs เข้าสู้ระบบตัดซื้อจัดจ้างของการซ่อมบำรุงเครื่องบินของ กองทัพอากาศ ให้ได้