“กรมการค้าต่างประเทศ” แจงประเด็นตัดสิทธิ์ผู้เข้าร่วมประมูลข้าวเสื่อม

“กรมการค้าต่างประเทศ” แจงประเด็นตัดสิทธิ์ผู้เข้าร่วมประมูลข้าวเสื่อมเพื่ออุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์โปร่งใสเป็นไปตามขั้นตอนตรวจสอบได้

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณี ที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงกรณีการประมูลข้าวชนิดที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ว่า มีข้าราชการแอบอ้างชื่อนายกฯ และ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะรมว. เกษตรฯ ตัดสิทธิบางบริษัทที่เข้าประมูลข้าวของกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ของกลุ่มเอกชนค้าข้าวของอำนาจเก่า ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย และประเทศชาติเสียประโยชน์นั้น

ทางกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่าการประมูลข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหารคนและสัตว์เป็นการเปิดประมูลที่มีการประกาศเงื่อนไขชัดเจน โปร่งใส ระบุคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูลต้องเป็นเป็นนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์ ที่ไม่มีประวัติเคยกระทำความเสียหายแก่ทางราชการ โดยมีการชี้แจงรายละเอียดเงื่อนไขให้ผู้สนใจทราบก่อนการประมูลทุกครั้ง

สำหรับการตัดสิทธิ์ผู้ที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามข้อกำหนดตามประกาศประมูล ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ชัดเจน โดยพิจารณาจากเอกสารหลักฐานที่ผู้ยื่นประมูลนำมาแสดงต่อคณะทำงาน รับซองราคาซื้อ การตรวจสอบเอกสารหลักฐาน คณะทำงานฯ ดำเนินการร่วมกับผู้แทนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมโรงงานอุตสาหกรรม และนำผลการพิจารณาเสนอคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวพิจารณาให้ความเห็นชอบและนำเสนอประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) โดย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ในฐานะรองประธานกรรมการ นบข. ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบการตัดสิทธิ์ และรายงานให้คณะกรรมการ นบข. ทราบ

ด้วยลำดับขั้นตอนการปฏิบัติที่มีการตรวจสอบกลั่นกรองดังกล่าว จึงไม่มีข้าราชการคนใดสามารถแอบอ้างชื่อนายกรัฐมนตรีและพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ เพื่อการนี้ได้ เพราะคณะทำงานและคณะกรรมการแต่ละชุด มีผู้แทนหน่วยงานเข้าร่วมจำนวนมาก ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น จึงยืนยันได้ว่า การพิจารณาเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่โปร่งใส ชัดเจน ทั้งข้อกฎหมาย และเอกสารหลักฐาน


“การตัดสิทธิ์ด้วยเหตุขาดคุณสมบัติของผู้เสนอซื้อแต่ละราย จึงเป็นไปตามเงื่อนไขอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง เป็นการดำเนินการตามแผนงานและกรอบการปฏิบัติที่คณะกรรมการ นบข. มีมติเห็นชอบ เพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดของรัฐ ซึ่งสามารถตรวจสอบการปฏิบัติงานได้ในทุกขั้นตอน”